นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยว่า ทาง สวทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ในด้านการวิจัยและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ เช่น รถโดยสารไฟฟ้าตัวถังอลูมิเนียม พร้อมระบบอัจฉริยะ , e platform aluminium และ Body สำหรับการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าไทย ,เรืออลูมิเนียมไฟฟ้า , เรือไร้คนขับ รวมถึง ชิ้นส่วน โครงสร้าง และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ และการออกแบบ และผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา ตลอดจนร่วมพัฒนาบุคลากร และกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานพาหนะสมัยใหม่ ซึ่งจากความสำเร็จที่ผ่านมาทำให้ สวทช, มีความมั่นใจและประสงค์ที่จะร่วมมือกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และยกระดับศักยภาพในการผลิตยานยนต์ เพื่อคนไทยให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในสิ่งที่ สวทช. ดำเนินการด้านยานยนต์นั้น เรามองว่าในอนาคตจะเกิดการบูรณาการเทคโนโลยีที่จะมุ่งไปสู่ Mobiltiy ที่ไม่ได้จำกัดว่าจะใช้ได้ในยานยนต์ที่มีล้อหรือทางบกเท่านั้น ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในระบบคมนาคมอื่น เช่น เรือ รถโดยสาร ระบบราง หรือยานบินขนาดเล็กได้อีกด้วย
ในวันนี้ ทาง สวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบา อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ผลิตเรือ รถโดยสาร ที่ทำจากโครงสร้างอลูมิเนียมแบบเดียวกับเทคโนโลยีที่ผลิตรถยนต์ โดยเราจะมาเป็นพันธมิตรร่วมกันพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขึ้นรูปและลดน้ำหนักโครงสร้าง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมด้านยานพานหนะสมัยใหม่ให้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย สิ่งที่สำคัญยานพาหนะสมัยใหม่เหล่านี้จะเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทาง รวมถึงการท่องเที่ยวของคนไทยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป
ทางด้าน นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทโชคนำชัย (CNC Group)เป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็น Top5 Asia ที่ทำแม่พิมพ์สำหรับผลิตตัวถังรถยนต์ได้ทุกชิ้นส่วน ส่งตรงบริษัทชั้นนำมากมายทั่วโลก ประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี และมีผลงานการค้นคว้าวิจัยด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้คิดค้นขึ้น ทางด้าน Advanced Material และเทคโนโลยีการขึ้นรูป นับเป็นองค์ความรู้สำคัญต่อการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น จนทัดเทียมกับระดับสากล สามารถต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย จนนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม และเพื่อการต่อยอดนวัตกรรมให้มีคุณภาพมากขึ้น
บริษัทโชคนำชัยฯ จึงได้ร่วมมือ กับ สวทช. เพื่อนำองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาของบริษัท ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเรืออลูมิเนียม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการคำนวณทางพลศาสตร์ของไหล หรือ CFD ช่วยในการจำลองสภาวะการใช้งานและศึกษาความสัมพันธ์ ตลอดจนผลกระทบจากการไหลของน้ำที่มีต่อโครงสร้างเรือ ที่สำคัญ สวทช. ยังช่วยวิจัยเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างรถโดยสารตัวถังอลูมิเนียม ซึ่งผลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ลดน้ำหนักของโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และมีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งความรู้ตัวนี้จะช่วยในการลดน้ำหนักและต้นทุนผลิต อีกทั้งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในรถโดยสารไฟฟ้าในอนาคต สร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมของประเทศได้โดยตรง
นอกเหนือจากการพัฒนางานนวัตกรรมช่วงแรกอย่าง รถไฟฟ้าโดยสาร ,เรืออลูมิเนียมที่มีความปลอดภัยสูงแล้วนั้น ยังมีโครงการที่จะเตรียมจะทำต่ออีกหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการพัฒนาเรืออัจฉริยะ ,เรือ unman ,เรือไฟฟ้า ,การนำใช้ระบบอัจฉริยะต่างๆเพื่อความปลอดภัย ,การใช้ Digital IoT technology สำหรับการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรม และการใช้งานเพื่อรองรับ AI ต่อไป
นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย กล่าวต่อ จากการที่กลุ่มบริษัทของเราพัฒนาจนมี Technology และ Knowhow การขึ้นรูปโลหะชั้นสูง จนเป็นที่ยอมรับจากหลายค่ายรถชั้นนำ รวมถึงผันตัวเองมาพัฒนาการออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จาก OEM จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูงได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น เรือ และ รถโดยสาร เป็นต้น และยังสามารถนำไปผลิต และประกอบตามมาตรฐานสากล และวางขายในเชิงพานิชย์ ภายใต้แบรนด์ไทยได้นั้น ยังคงมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดย การร่วมมือกับหน่อยงานวิจัยหลักของประเทศ อย่าง สวทช. คือเพื่ออาศัยผู้ชำนาญการสร้างระบบจัดองค์ความรู้ระดับสูงที่ได้พัฒนาขึ้นมา ให้อยู่ในรูปแบที่เป็นสากล สามารถถ่ายทอดและพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปแบบได้ อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาโดยคนไทยและนักวิจัยเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย และท้ายที่สุด คือการให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไทยต่อไป