นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวเรื่องการยกเลิกหรือแบนการใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากภาคีเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการวัตถุอันตรายมิได้มีการนิ่งนอนใจแต่อย่างใด และยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพ ด้านพิษวิทยา ด้านการประเมินความเสี่ยง ด้านการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตร สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแบนการใช้ทั้ง 3 สารดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมเฉพาะกิจได้ใช้เวลาพิจารณารวบรวมข้อมูลทั้งสถิติการเจ็บป่วย สาเหตุความเสี่ยงจากการบริโภคอาหาร ความเสี่ยงในเกษตรกรและผู้รับจ้างฉีดพ่น การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรวจสอบข้อมูลพบว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยที่ปรากฏตามที่เป็นข่าว และจากข้อมูลของ The Joint FAO/WHO Expert Meeting on Pesticide Residues (JMPR) องค์กรระหว่างประเทศที่ได้มีการประเมินไว้ว่าความเสี่ยงของผู้บริโภคจากการได้รับสารจากการรับประทานอาหารไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดอันตราย
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ และวิเคราะห์ภาพรวมในมิติต่าง ๆ ทั้งมาตรการกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความเป็นอันตรายของสาร ข้อมูลการเกิดโรค การตกค้างของสารในสิ่งแวดล้อม ข้อมูลความเจ็บป่วยจากสถิติของศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณสมบัติของสารทดแทนและราคา รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งการตัดสินใจได้ดูข้อมูลที่ได้รับจากภาคส่วนต่าง ๆ และเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการฯ เห็นว่า ปัญหาหลักไม่ใช่มาจากตัวสาร แต่มาจากวิธีการบริหารจัดการ ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และความเข้มงวดในการติดตามกำกับดูแล รวมทั้งยังไม่ได้มีการนำหลักเกณฑ์วิธีการจัดการที่ดีมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการเข้าถึงสารได้ง่ายเกินไป และนำไปใช้ทำร้ายตัวเอง
อย่างไรก็ดี การห้ามใช้สารโดยที่ยังไม่มีมาตรการบริหารจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรงที่สาเหตุ และการยกเลิกในทันทียังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ใช้ โดยเฉพาะชาวสวนชาวไร่ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ยืนต้นทั้งหลาย เช่น ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่ยังให้ความเห็นว่า แนวทางการจำกัดการใช้เป็นแนวทางที่เหมาะสมแก้ปัญหาที่ตรงกับเหตุ โดยมีข้อเสนอแนะอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ให้มีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการจำหน่าย จำกัดปริมาณการนำเข้าเพื่อให้ใช้เท่าที่จำเป็นการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี นำระบบสากล Good Agricultural Practice หรือ GAP มาใช้ จัดทำฉลากและมีการสื่อสารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเลือกใช้เครื่องมือในการฉีดพ่น และการป้องกันการรับสัมผัสสารดังกล่าวด้วย
นายมงคล กล่าวทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงได้ให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนบริหารจัดการในการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิดที่ชัดเจนอีกครั้ง พร้อมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา ซึ่งมีกำหนดที่จะพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 นี้
สำหรับประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือขอคำปรึกษาแนะนำได้ที่
กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4152 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์[email protected]