พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476

05 Jul 2018
"2 กรกฎาคม 2561...เฉลิมฉลองเฉลิมกรุง 85 ปี"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 9 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงมหรสพที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของเอเชียในยุคสมัยนั้น และพระราชทานนาม "ศาลาเฉลิมกรุง" เพื่อเป็นเกียรติแก่หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ผู้ออกแบบและเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร 150 ปี เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476 ณ วันนี้ 85 ปี โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงได้ยืนหยัด ผ่านวันเวลาหลายยุคหลายสมัยด้วยบทบาทอันหนักแน่นมั่นคง รองรับผู้คนด้วยความบันเทิง ครบทุกรูปแบบ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความทรงจำที่มีคุณค่าของปวงชนชาวไทย ด้วยความผูกพันกับหลายสิ่งหลายอย่างจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุงจึงเป็นเสมือนบันทึกในหน้าตำนานแห่งประวัติศาสตร์และสังคมไทยในกรุงเทพมหานคร ยืนหยัดอย่าง สง่างาม ด้วยการแสดงคุณภาพที่หลากหลายและยึดมั่นในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และได้รับการทำนุบำรุงไว้ให้เป็น โรงมหรสพพระราชทานสมดังพระราชประสงค์สืบไป

ในโอกาสครบรอบการดำเนินการ 85 ปี โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง และครบรอบ 13 ปี การก่อตั้งมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ในวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561 นี้ ศาลาเฉลิมกรุงกำหนดจัดพิธีทางศาสนา เริ่มด้วย เวลา 07.00 น. "พิธีสงฆ์" ต่อด้วยเวลา 09.09 น. "พิธีบวงสรวง" ณ บริเวณด้านหน้าศาลาเฉลิมกรุง ชมความวิจิตรงดงามของนาฏศิลป์ไทยในการแสดง "รำบวงสรวง" ชุดศุภพรวานรพงศ์ โดยเหล่าพญาวานร ทั้ง 9 ได้แก่ ท้าวชามพูวราช ท้าวมหาชมพู พาลี สุครีพ หนุมาน นิลพัท ชมพูพาน องคตและนิลนนท์ ได้มาอำนวยอวยชัย ในโอกาสครบรอบ 85 ปี โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ให้มีแต่ความเจริญรุ่งโรจน์เป็นสวัสดิมงคลสืบไป

ต่อจากนั้น เวลา 10.30 น. เชิญเข้าสู่โรงมหรสพหลวงใน พิธีมอบทุนกองทุนนาฏดุริยางคศิลปไทย "มูลนิธิ ศาลาเฉลิมกรุง" ประจำปี 2561 เป็นการมอบทุนช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ศิลปินด้านนาฏศิลป์ไทยที่ประสบภาวะวิกฤติในชีวิต จำนวน 4 ทุน ได้แก่ ครูอุดม กุลเมธพนธ์, ครูอิสสระ โพธิเวส, ครูมณฑล ดารกะพงษ์, นายซะฮ์เรณ บีลา และมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาทางด้านนาฎศิลป์ดนตรีไทยและคีตศิลป์ไทยของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวน 8 ทุน และมหาวิทยาลัยอุดมศึกษาทั่วไป จำนวน 1 ทุน และมอบทุนช่วยเหลือนักแสดงอาวุโส "มูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส" ประจำปี 2561 จำนวน 9 ทุน โดย นายเศรษฐา ศิระฉายา(ศิลปินแห่งชาติ) ประธานมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส มีนักแสดงอาวุโสที่ได้รับทุนประจำปี อาทิ ชาลี อินทรวิจิตร (ศิลปินแห่งชาติ), มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา(ศิลปินแห่งชาติ), พิศมัย ภักดีวิจิตร, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา, น้ำเงิน บุญหนัก, กานดา นามแย้มแป้น, นภาพร หงสกุล, ไพโรจน์ ใจสิงห์, สมสุข ประณต ฯลฯ

ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการแสดงโขน~ศาลาเฉลิมกรุง ชุด "เฉลิมฉลองนพบุรี" กำกับการแสดงโดย ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์(ศิลปินแห่งชาติ) แสดงโดยนักแสดงนักแสดงโขน~ศาลาเฉลิมกรุง และผู้ได้รับทุนกองทุนนาฏดุริยางคศิลปไทย มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง บรรเลงโดย วงโรหิตาจล จับตอนตั้งแต่เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกา พระรามให้หนุมานครองเมืองอยุธยา

ครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อใดที่หนุมานต้องขึ้นนั่งบัลลังก์ออกขุนนาง จะรู้สึกเร่าร้อนจึงคิดว่าเป็นเพราะตีตนเสมอพระรามทำให้เกิดวิปริต หนุมานจึงได้เข้าเฝ้าพระรามถวายเมืองอยุธยาคืน พระรามจึงแผลงศรแล้วให้หนุมานตามไปดูว่าศรตกลงที่ใด จะยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ให้ ศรนั้นไปตกบนเขาใหญ่เก้ายอด หนุมานจึงแผลงฤทธิ์เอาหางกวาดจนเกิดเป็นกำแพงหินล้อมรอบบริเวณนั้น แล้วจึงกลับมาทูลพระรามทุกอย่าง พระรามโกรธ ต่อว่าหนุมานว่าให้ตามไปดูเท่านั้น แต่กลับทำเกินคำสั่ง หนุมานเสียใจ แต่ด้วยคุณความดีของหนุมาน พระรามเกิดความสงสาร จึงให้เทวดาไปสร้างเมืองให้ต่อมาพระอินทร์ให้พระวิษณุกรรม ลงมาสร้างเมืองให้หนุมาน แล้วพระรามประทานชื่อเมืองว่า นพบุรี และมีการสมโภชเฉลิมฉลองเมืองใหม่เพื่อความเป็นสิริสวัสดิ์มงคลแก่บ้านเมืองสืบไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศาลาเฉลิมกรุง โทร. 0-2225-8757-8, 0-2623-8148-9

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เพื่อเป็นของขวัญแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476