ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. และประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติกเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชนหรือประชาชน ต้องร่วมมือกันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 30 แห่งในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) จึงได้ร่วมมือกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้าน 7-Eleven ในประเทศไทย ในการลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย ผ่าน 4 มาตรการ ได้แก่ 1) ยกเลิกการให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว โดยเปลี่ยนเป็นการจำหน่ายหรือจัดเตรียมถุงให้ยืมหรือ ด้วยวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสม 2) ลดปริมาณขยะจากแก้วพลาสติก โดยร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จะลดราคาให้ 2 บาท สำหรับผู้ที่นำแก้วมาเอง 3) ลดปริมาณช้อน ส้อมและหลอดพลาสติก โดยพนักงานร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จะไม่ให้ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติกหากผู้ซื้อไม่ร้องขอ 4) ยกเลิกภาชนะจากโฟม ทั้งในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และในร้านอื่นๆ ตลอดจนในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถทำให้ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จำนวนกว่า 70 สาขา ในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจำนวน 30 สถาบัน ซึ่งมีจำนวนนิสิต นักศึกษา รวมกันกว่า 650,000 คน จะสามารถลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติก ได้จำนวนมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมา มธ. ได้ดำเนินโครงการลดใช้พลาสติกในหลากรูปแบบเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2560 สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อได้ราวร้อยละ 30 หรือราว 1,800,000 ใบ จากปีก่อนหน้า และในปีนี้เพื่อลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติกในมหาวิทยาลัยให้เป็น 'ศูนย์' มธ. จึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่ประกอบกิจการร้านค้าปลีกในมหาวิทยาลัย อาทิ 7-Eleven ซึ่งนับเป็นแนวทางการลดขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพมากแนวทางหนึ่ง ดังนั้นการร่วมมือกันลดการผลิตขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและขยะโฟมของมหาวิทยาลัยในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยในทปอ. รวม 30 แห่ง จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ประเทศผู้ผลิตขยะพลาสติกเป็นศูนย์ และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้นเหตุของสภาวะเรือนกระจก จากการเผาทำลายพลาสติก และช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของสัตว์ในธรรมชาติจากการบริโภคขยะพลาสติก รวมทั้งเป็นการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม อาทิ ดินและน้ำให้ไร้การปนเปื้อนจากสารเคมี
ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการณ์ด้านปริมาณขยะ จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่าปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยผลิตขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ตัน จาก 10 ปีก่อน หรือราว 74,000 ตันต่อวัน คิดเป็น 27 ล้านตันต่อปี จากปริมาณขยะดังกล่าวเป็นขยะพลาสติกสูงถึงร้อยละ 10 หรือผลิตราว 2.7 ล้านตันต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ในขณะที่ปริมาณการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกจะสูงขึ้นในทุกปี แต่กลับสวนทางกับการกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าขยะพลาสติกกว่าร้อยละ 50 ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี อาทิ การเผาทำลาย ซึ่งเป็นการสร้างก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน รวมทั้งการฝังกลบในดินและทิ้งลงทะเล ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี และก่อให้เกิดสารตกค้างในดินและน้ำ เป็นต้นเหตุของการทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ในธรรมชาติ จากการเปิดเผย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล (ทช.) พบว่า ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมานี้ พบสัตว์ทะเล อาทิ เต่า วาฬและปลาฉลาม ตายจากกินขยะและถูกขยะติดพันตามร่างกายกว่า 300 ตัวต่อปี ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit