นายอิทธิชัย ยศศรี ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายการผลิตสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและมีมาตรการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารได้แสวงหาโอกาสในการขยายการผลิต การค้า การลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่โอกาสกำลังเปิดกว้างหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับสหภาพเมียนมาร์นั้นถือว่ายังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากนานาชาติ โดยเฉพาะ "รัฐฉาน (Shan state)" เป็นอีกรัฐหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยหรือ SMEs สามารถแสวงหาโอกาสในการขยายการผลิต การค้า การลงทุนได้ ดังนั้นการมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่หรือตลาดที่มีศักยภาพดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งเป็นแนวทางในการวางนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของไทย
สศอ. จึงได้ร่วมกับสถาบันอาหารจัดกิจกรรมสัมมนา "รัฐฉาน…โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทย ไม่ไป ไม่ได้แล้ว" เพื่อเผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่อง "กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในรัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์" ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Intelligence Unit หรือ IU) โดยการเผยแพร่ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการลงทุนในประเทศเมียนมาร์ แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในการสร้างเครือข่ายการผลิต การค้า การลงทุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากรัฐฉานเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะแก่การสร้างเครือข่ายการผลิต การค้า การลงทุน ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยด้วยเหตุผลหลายด้าน ได้แก่ 1. รัฐฉานมีพื้นที่ติดกับประเทศไทย โดยมีด่านแม่สาย (ฝั่งไทย) หรือด่านท่าขี้เหล็ก (ฝั่งเมียนมาร์) เป็นประตูการค้าสำคัญระหว่างไทยกับประเทศเมียนมาร์ตอนบน 2. รัฐฉานเป็นตลาดอาหารที่สำคัญของไทยที่นำเข้า
สินค้าจากไทยในช่องทางการค้าผ่านแดนอยู่แล้ว โดยมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ 3 เมือง ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เชียงตุง และตองยี (ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน) 3. รัฐฉานเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสหภาพเมียนมาร์ เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่กว้างใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตพืชผลการเกษตรเพื่อป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปได้ 4. รัฐฉานต้องการพึ่งพาตนเองโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจึงให้ความสำคัญกับการขยายการค้าการลงทุนเป็นอย่างมาก ประกอบกับรัฐบาลกลางเมียนมาร์ได้ให้อิสระแก่รัฐต่างๆ สามารถพิจารณาและอนุมัติการลงทุนได้เอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากส่วนกลาง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 5. รัฐฉานมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการเป็นฐานการผลิต และอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมจะเป็นประตูการค้าไปสู่ตลาดอาหาร ทั้งในประเทศเมียนมาร์ ประเทศจีนทางตอนใต้ที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน รวมทั้งเส้นทางการค้าผ่านเมืองมัณฑะเลย์ไปสู่ประเทศอินเดียในอนาคต
"สินค้าอาหารของไทยเป็นสินค้าที่ครองตลาดส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมาร์รวมทั้งรัฐฉานด้วย ซึ่งผู้บริโภคชาวเมียนมาร์เชื่อมั่นและให้การยอมรับสินค้าอาหารของไทยเป็นอย่างมากทั้งในด้านรสชาติ มาตรฐานสินค้า และคุณภาพที่เหมาะสมกับราคา ปัจจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของสินค้าอาหารไทยได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า รักษาส่วนแบ่งตลาด หลังจากที่เมียนมาร์เปิดประเทศ ส่งผลให้การค้าชายแดนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ทางธุรกิจอื่นๆ ในเชิงรุกด้วยสำหรับการฉกฉวยโอกาสและรักษาส่วนแบ่งตลาดในการแข่งขัน ท่ามกลางสภาวการณ์แข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น" นายอิทธิชัยกล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit