นายเควนติน วอดอน ผู้แทนจากธนาคารโลก และหนึ่งในคณะผู้จัดทำรายงาน เปิดเผยว่า การใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นเครื่องมือชี้วัดอัตราการเจริญเติบโลกของเศรษฐกิจนั้น ยังไม่สามารถสะท้อนภาวะที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศนั้น ๆ ในระยะยาวได้ รายงานชิ้นนี้จึงได้นำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้ประมวลข้อมูลสถิติ 4 ด้านสำคัญมาพิจารณา ได้แก่ ทุนด้านการผลิต ทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ และการลงทุนทุนต่างประเทศ ซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าสามารถแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศออกมาได้
เนื่องจากจีดีพีเป็นเครื่องชี้วัดที่แสดงถึงรายได้และผลผลิตของประเทศเท่านั้น แต่มิได้บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร รวมถึงสินทรัพย์ของชาติบนพื้นฐานความเป็นจริง ดังนั้น จีดีพีจึงอาจส่งสัญญาณผิดๆ เกี่ยวกับความแข็งแรงของเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าต้นทุนของประเทศนั้นๆ ได้ลดลงหรือเสื่อมถอยลงไปมากน้อยเพียงใดแล้ว นอกจากนี้หากปราศจากข้อมูลที่ถูกต้อง การดำเนินการลงทุนด้านต่าง ๆ หรือการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนก็อาจไม่สอดคล้องกับอัตราขยายตัวของประชากรและเป้าหมายการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง
ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ ITD กล่าวว่า "รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้มีข้อมูลที่มีความน่าสนใจมาก นอกจากนี้รายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่ได้ต่อยอดจากรายงานของธนาคารโลก 2 ก่อนหน้านี้คือ Where is the Wealth of Nations ? Measuring Capital for 21st Century (2006) และ The Changing Wealth of Nations Measuring Sustainable Development in the New Millennium (2011)
รายงานฉบับนี้ทำให้เห็นการเติบโตของความมั่งคั่งที่มีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ทางคณะจัดทำติดตาม รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลความมั่งคั่งทั่วโลกจาก 141 ประเทศ ในช่วงระหว่างปี 2538 – 2557 กว่า 1,500 ครัวเรือน จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจ และเปิดมุมมองใหม่เรื่องตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจให้แก่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อนำมาประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังพบว่า ความยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 จะมิได้ขึ้นอยู่กับทุนด้านการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านการทำงานอย่างเข้มข้นของสถาบันต่างๆ และภาครัฐในแต่ละประเทศ
ธนาคารโลกได้อธิบายถึงแนวโน้มโลกและภูมิภาคต่างๆ ระหว่างปี 2538 – 2557 ว่า ประเทศรายได้ปานกลางกำลังก้าวขึ้นไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยความมั่งคั่งของโลกได้เพิ่มขึ้น 66% จาก 690 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างสุดโต่งของจำนวนประเทศรายได้ระดับกลาง ที่เพิ่มขึ้นจาก 19% มาอยู่ที่ 28% ขณะที่จำนวนประเทศรายได้สูง มีสัดส่วนลดลงจาก 75% มาอยู่ที่ 65% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลสะท้อนของปรากฎการณ์ "ความรุ่งโรจน์แห่งเอเชีย" (Rise of Asia) ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากสถานะประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในหนึ่งชั่วอายุคน ยังต้องระวังการเกิดช่องว่างจากความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง
ตามรายงานล่าสุดนี้ระบุว่า แม้บางประเทศจะมีอัตราเติบโตของความมั่งคั่งต่อหัวต่อคนสูง แต่ก็เป็นเพราะมีการขยายตัวของประชากรน้อย จีดีพีที่สูงขึ้นจึงไม่สามารถสะท้อนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆ ในทางตรงกันข้ามพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ว่า จำนวนประชากรที่เติบโตอย่างรวดเร็วและการมีประชากรวัยหนุ่มสาวจะเป็นประโยชน์มาก ในกรณีที่มีการลงทุนเพียงพอและเหมาะสมกับแรงงานคนรุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนควบคู่ไปด้วยทุนทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนา
ตามรายงานฉบับนี้ได้มีการกำหนดทุนทรัพย์เป็น 2 ประเภท คือ ทุนทรัพย์ที่สร้างเอง (Renewable) และทุนทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างเอง (Non-Renewable) ทั้งนี้ทรัพยากรธรรมชาติถือว่าเป็นทุนทรัพย์ประเภทแรกที่เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศรายได้ต่ำ ทั้งนี้ ในปี 2557 ทุนทรัพยากรธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ของความมั่งคั่งทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ประเทศรายได้ต่ำพึ่งพาทุนด้านนี้มากถึง 27% ขณะที่ประเทศร่ำรวยจะพึ่งพาทุนทางทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามลำดับ ตั้งแต่รายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้สูง ในทางตรงกันข้ามพบว่าประเทศรายได้ปานกลางจนถึงรายได้สูงจะมีการพึ่งพาทุนมนุษย์มากขึ้นถึง 70%
สาเหตุที่หลายประเทศลดการพึ่งพาทุนทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ สืบเนื่องจากหลายประเทศหันมาเพิ่มการพัฒนาทุนด้านการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มการพัฒนาทุนมนุษย์ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศหนึ่ง ๆ สามารถก้าวข้ามจากสถานะประเทศที่ยากจนและไม่มีทุนทรัพย์ที่สร้างเองไปสู่การเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้จะต้องเน้นการลงทุนในทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และทุนการผลิตอื่น ๆ ยกเว้นประเทศตะวันออกกลางที่ยังพึ่งพาทุนธรรมชาติสูง ซึ่งวันวันหนึ่งจะหมดสิ้นไป เนื่องจากเป็นทุนทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างเอง (Non-Renewable)
ทั้งนี้ ทุนทรัพยากรธรรมชาติมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ระหว่างปี 2538 – 2557 แบ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใหม่ได้ เช่น น้ำมันดิบ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 308% ขณะที่ทรัพยากรที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ เช่น ป่าไม้ ที่ดินทางการเกษตร ขยายตัว 44% อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการ เช่น การพัฒนาป่าไม้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การเพิ่มผลผลิตต่อไรในพื้นที่การเกษตร
และถึงแม้ว่าการปรับปรุงเรื่องจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จะไม่ปรากฎตัวเลขในบัญชีถึงผลที่ได้รับอย่างชัดเจน แต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการนี้ กลับช่วยให้แรงงานและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการจัดการที่เหมาะสมสามารถใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาใช้เป็นเครื่องมือได้ทุนมนุษย์ แรงขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในรายงานฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่มีการนำทุนมนุษย์มาเป็นเครื่องชี้วัดถึงความมั่งคั่ง โดยพิจารณาจากมูลค่ารายรับรวมในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากแรงงาน ตลอดอายุการทำงานของแรงงาน 1 คน ทั้งนี้ ในปี 2557 ทุนมนุษย์เฉลี่ยต่อคน มีมูลค่า 108,654 ดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากปี 2538 ซึ่งอยู่ที่ 88,874 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีฝีมือจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลกอย่างยั่งยืน
โดยประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ต่ำถึงกลาง กำลังมีสัดส่วนความมั่งคั่งด้านต้นทุนมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 32% ไปอยู่ที่ 43% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากความพยายามพัฒนาต้นทุนมนุษย์และต้นทุนการผลิต แม้ว่าอัตราขยายตัวของประชากรจะลดลงและจำนวนประชากรที่มีอยู่ส่วนใหญ่กลายเป็นผู้มีการศึกษาดีขึ้น และเมื่อพิจารณาในแง่มุมเรื่องเพศของทุนมนุษย์พบว่า ทั่วโลกมีแรงงานผู้หญิงเพียง 38% ของต้นทุนมนุษย์ที่มีผลต่อความมั่งคั่งประเทศเท่านั้น ขณะที่แรงงานชายมีสัดส่วนถึง 62% เนื่องจากผู้หญิงได้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าผู้ชาย สืบเนื่องมาจากหลายปัจจัย ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการสร้างโอกาศของความเป็นเพศหญิงจะสามารถยกระดับความมั่งคั่งของประเทศนั้นอย่างยั่งยืนกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวได้กล่าวถึงผลกระทบจากเทคโนโยลีเช่นหุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์ทำให้มีย์มีแนวโน้มที่ลดการพึ่งพาแรงงานมุนษย์มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพของประเทศที่จะสร้างความมั่งคั่ง เพราะเทคโนโลยีทำให้เราพึ่งพาแรงงานน้อยลง อีกทั้งค่าแรงโดยทั่วไปยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นเท่าที่ควร รวมถึงปัจจัยเรื่องอายุแรงงานที่เพิ่มขึ้นในหลายๆประเทศ
กล่าวโดยสรุปรายงานฉบับนี้ได้ให้มุมมองใหม่สำหรับการประเมินเศรษฐกิจและความยั่งยืน นอกเหนือไปจากเครื่องชี้วัดแบบดั้งเดิมเช่นจีดีพี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพขององค์กรและระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ(Quality of Institution and Government System) ของเราและภาครัฐว่าจะเข้ามาจัดการผลผลิตจากความมั่งคั่งและบูรณาการรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อให้ประชาชนโดยมีการเปิดโอกาสให้สังคสมมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งจะสร้างทุนทางสังคม (Social Capital) ที่มีมูลค่ามหาศาลเพราะเป็นทุนทรัพย์ที่ไม่มีวันหมดสิ้น
ข้อมูลตารางแสดง : รูปแบบการใช้สินทรัพย์เพื่อความมั่งคั่งในแต่ละกลุ่มประเทศ
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม :
ปี 2554 ธนาคารโลกปรับฐานะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จากเดิมที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับล่าง โดยในแต่ละปีธนาคารโลกจะทำการทบทวนการจัดกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลกจากการประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Atlas method ณ วันที่ 1 กรกฏาคม 2554 ประเทศที่ถือว่ามีรายได้ปานกลางระดับสูง คือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 3,976 – 12,275 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 118,662 - 366,337 บาท) ด้วยวิธี Atlas method ดังกล่าว ปัจจุบันรายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 4,210 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 125,756 บาท)
ข้อมูลสถิติ 4 ด้านที่นำมาพิจารณา ประกอบด้วย
1. ทุนด้านการผลิต (Produced capital and urban land) เช่น เครื่องจักร อาคารบ้านเรือน ที่ดินในเมืองเพื่อการอยู่อาศัยและไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย
2. ทุนทรัพยากรธรรมชาติ (Natural capital) แบ่งเป็นทุนพลังงาน (เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) แร่ธาตุ ที่ดินการเกษตร ป่าไม้
3. ทุนมนุษย์ (Human capital) ไม่มีการแบ่งแยกเรื่องเพศและสถานะการจ้างงาน (ครอบคลุมทั้งบุคคลที่มีงานทำและว่างงาน)
4. ทุนต่างประเทศ (Net foreign assets) หมายถึงผลรวมของสินทรัพย์สุทธิจากต่างประเทศของชาตินั้นๆ เช่น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit