แนนซี หย่วน นำทีมนักร้องชั้นนำจากนานาประเทศ กับวงดุริยางค์สยาม ซินโฟนิเอตต้า ออร์เคสตร้าเยาวชนไทยผู้ชนะรางวัลเหรียญทองถึง 5 รางวัลจากประเทศต่างๆ มาร่วมแสดง "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" มหาอุปรากรสะเทือนใจซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายที่สุด
แนนซี หย่วน รับบทมาดามบัตเตอร์ฟลายในการแสดงที่มีผู้ชมเต็มทุกที่นั่งที่อัลเบิร์ต ฮอลล์ ณ กรุงลอนดอน จากมหาอุปรากรแห่งชาติอังกฤษและเวลส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ถึงกรุงเทพฯ มิสหย่วนได้รับการยกย่องว่าเป็นดาราระดับสุดยอดของเอเชีย และ "บัตเตอร์ฟลาย" คือบทประจำซึ่งเธอแสดงมาแล้วกว่า 100 รอบทั่วโลก โดยได้รับการกล่าวขวัญถึงจากนักวิจารณ์มืออาชีพนานาชาติอย่างชื่นชมในความสามารถด้านการขับร้องและการเข้าถึงบทบาท
ผู้แสดงเป็น พิงเคอร์ตัน นายเรืออเมริกันซึ่ง "ซื้อ" สาวน้อยชาวเอเชียจาก "นายหน้า" แล้วทอดทิ้งเธอ ได้แก่ อิสราเอล โลซาโน ศิษย์เอกผู้สืบทอดความสามารถจากพลาซิโด โดมิงโก อิสราเอลกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งหลังจากแสดงบทเดียวกันนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2550 ฟิลิปส์ โจลล์ ดาราใหญ่จาก คอเวนต์ การ์เดน รับบท ชาร์ปเลส กงสุลอเมริกัน เขาเคยร่วมงานกับโอเปร่าสยามมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ในบทเทพเจ้าโวตัน สการ์เปีย กับลาโก เอมมานูเอล บาราเซีย เมสโซโซปราโนอิตาเลียนในบท ซูซูกิ สาวใช้คู่ใจ เดเมียน ไวต์ลีย์ เจ้าของเสียงเบสส์ยอดนิยมชาวออสเตรเลีย แสดงเป็นนักบวชผู้เป็นลุงของบัตเตอร์ฟลาย และชัยพร พวงมาลี ในบท โกโร นายหน้าใจคด
สมเถา สุจริตกุล ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ผู้ออกแบบ กำกับการแสดง และอำนวยดนตรี กล่าวถึงการแสดงเรื่องนี้ว่า "บัตเตอร์ฟลายมีความละเอียดอ่อน จากมุมมองหนึ่งเป็นเรื่องรักอันประกอบด้วยคำร้องที่กินใจและดนตรีที่ไพเราะสุดยอด แต่อีกนัยหนึ่งจากอนุสติลึกๆ มันคือเรื่องของชายผิวขาวย่ำยีสาวน้อยชาวเอเชีย – การกระทำที่ชาวเอเซียทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งสมควรถูกประนามและลงโทษยิ่งกว่าเมื่อร้อยปีก่อนเมื่อมหาอุปรากรเรื่องนี้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ ในการแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2447 ผู้ชมยอมรับไม่ได้ ปูชชีนีจึงปรับเปลี่ยนให้พิงเคอร์ตัน พระเอกเป็นคนสุภาพอ่อนโยนและมีเมตตาว่าเดิม แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ เพลงขับร้องเดี่ยวอันแสนกินใจของพิงค์เคอร์ตัน ("Addio fiorito asil") ก็ไม่อาจทำให้ความเหี้ยมโหดของพระเอกลดน้อยลงได้"
สมเถาจึงลงความเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดคือนำเสนอเรื่องราวดั้งเดิมโดยแฝงนัยเชิงประชดชัน "ทำมหาอุปรากรให้งดงามที่สุดเท่าที่สามารถทำได้" เขากล่าว "จุดมืดจะปรากฏให้เห็นเอง" สมเถาหวังว่าผู้ชมทุกท่านจะซึมซับความงดงามของนิยายรักและมองเห็นสิ่งอันควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะนิยามของคำว่า "มนุษยธรรม" ซึ่งมีการถกเถียงกันและเป็นปัญหาที่ปูชชีนีเองก็ขบคิด
มาดามบัตเตอร์ฟลายเป็นมหาอุปรากรที่มีอิทธิพลสูงสุด ละครเพลงเรื่อง "มิสไซ่ง่อน" คือมาดามบัตเตอร์ฟลาย ที่ดัดแปลงขึ้นมาใหม่ เรื่องของบัตเตอร์ฟลายได้มีการนำมาเล่าซ้ำใน "เอม. บัตเตอร์ฟลาย" โดยแปลงบทนางเอกเป็นหญิงประเภท 2 นอกจากนั้น ยังมีภาพยนตร์อีกนับไม่ถ้วนที่ได้รับอิทธิพลจากมหาอุปรากรเรื่องนี้ รวมทั้งภาพยนตร์ขำขัน "มาย เกอิชา" นำแสดงโดย เชอร์ลีย์ แมคเลน
ละครไทยก็เช่นกัน "สาวเครือฟ้า" คือมาดามบัตเตอร์ฟลายแปลง เมื่อปี 2505 ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ได้แปลคำร้องมาดามบัตเตอร์ฟลายเป็นคำกาพย์ไทยนำเสนอเป็นละครเวที ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดง ที่น่าสนใจก็คือ ถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้อำนวยการผลิตซึ่งเป็นแม่ของผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์โอเปร่าสยาม แสดงเป็นมาดามบัตเตอร์ฟลายในการแสดงครั้งนั้นโอเปร่าสยาม จะจัดการแสดง "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 11 และ 12 กรกฎาคม 2561 กิจกรรมในสมัยกาลประจำปี 2561 เป็นการรวมดารามหาอุปรากรนานาชาติจากทุกมุมโลกมาแสดงผลงานคลาสสิคยอดนิยมเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย แม้ว่าการได้ชมนักแสดงระดับนี้โดยปกติหมายถึงราคาบัตรที่สูง แต่สมเถาก็พยายามทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้สัมผัสการแสดงระดับสูงในราคาย่อมเยาว์"มาดามบัตเตอร์ฟลาย"
วันที่ 11 และ 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 20.00 น.
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมใหญ่
บัตร 500 – 1,000 - 2,000 – 3,000 และ 5,000 บาท (บัตร 5,000 บาท รวมงานเลี้ยงรับรองระหว่างพักการแสดง)
สำรองบัตรที่
http://www.thaiticketmajor.com/performance/madama-butterfly-2018-th.html
https://www.eventbrite.com/e/opera-siams-madama-butterfly-tickets-46035608745
ผู้ประสงค์เข้าชมเป็นหมู่คณะ คณะนิสิตนักศึกษาในนามสถาบันศึกษา
โปรดติดต่อโอเปร่าสยามเพื่อขอข้อมูลส่วนลดพิเศษ โทร. 061-971-6477 (ติดต่อคุณวัทน์สิริ)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit