นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัดทำโครงการ "สืบสานงานเงิน" คือสยามเจมส์กรุ๊ปเป็นผู้ค้าปลีกด้านสินค้าท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์อันยาวนานกว่า 56 ปี ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของฝีมือช่างไทยในการผลิตเครื่องเงินและมีความต้องการที่จะช่วยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมนี้ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก และต้องการดำเนินธุรกิจที่ให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วม จึงจัดตั้งโครงการที่มีโมเดลแบบเปิดรับให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนการดำเนินงานในฐานะผู้ผลิต ทั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกัน เพราะเมื่อมีอาชีพ รายได้ที่ตามมาหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมได้ นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดในระยะยาวด้านคุณภาพสินค้าท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยให้แข็งแรง เกิดการพัฒนาสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
นายณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป ยังได้กล่าวเสริมว่า ด้วยเครื่องเงินของไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ถือว่าเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ต้องใช้ฝีมือ มีความประณีตสูง และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาแต่โบราณสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เลือนหายไป โครงการ "สืบสานงานเงิน" เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริม และยกระดับเครื่องเงินไทยให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ด้วยการเปิดตลาดใหม่ และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการ "สืบสานงานเงิน" เป็นโครงการเพื่อผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินไทยรายย่อยที่ต้องการพัฒนาสินค้าและการออกแบบและช่องทางการจำหน่าย ได้มาเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านเกณฑ์สามารถเสนอผลิตภัณฑ์กับโครงการฯ และเรียนรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการของนักท่องเที่ยวจากวิทยากรและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดทั้งโครงการ
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญพิเศษจากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับโครงการ ม.ล.ภาสกร อาภากร นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนา นักออกแบบเพื่อการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากตัวเลขการส่งออกในปีที่ผ่านมาพบว่าตลาดเครื่องประดับไทยถูกจัดอันดับให้เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของประเทศ มีมูลค่ารวมกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเครื่องประดับเงินถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อนงานฝีมือที่ประณีต จึงเป็นที่นิยมและต้องการ ดังนั้น การจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการและช่างฝีมือจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะช่วยสร้างให้เกิดนวัตกรรม ชิ้นงานใหม่ๆ ที่เป็นสากลมากขึ้น
รศ. ดร. สุภาวี ศิรินคราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัย กล่าวว่า สิ่งที่นักออกแบบจะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้กับผู้ประกอบการและช่างฝีมือในโครงการสืบสานงานเงิน คือการคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ที่สะท้อนผ่านเทคนิคต่างๆ ผสานความร่วมสมัย ตอบโจทย์ทางด้านการตลาด ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงความเป็นต้นฉบับและรากเหง้า โดยอาจจะต้องเพิ่มเรื่องของเทคโนโลยีที่รองรับการออกแบบ โดยที่ผู้ประกอบการและช่างฝีมือไม่รู้สึกว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากนัก ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์เทคนิคฝีมือ และศิลปะของไทยให้คงอยู่ได้จริง
นายไตร เขื่อนธะนะ เจ้าของร้านสล่าเงิน ผู้ผลิต และจำหน่ายเครื่องประดับเงินจังหวัดน่าน กล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเครื่องเงินมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และยังคงยึดมั่นในฝีมือและความประณีตของช่างไทยมาจวบจนทุกวันนี้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป องค์ประกอบของสังคม ราคาวัตถุดิบ และเทรนด์ความชอบในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น โครงการสืบสานงานเงิน จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยเติมเต็มผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินให้ได้รับการพัฒนาความรู้เรื่องการทำการตลาด ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทรนด์การออกแบบในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจและช่วยสืบสานอาชีพช่างฝีมือเครื่องเงินให้คงอยู่ต่อไป"
"สยามเจมส์ กรุ๊ป หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะมีส่วนเข้าไปช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของงานเครื่องเงินในพื้นที่ โดยใช้ศักยภาพของเราเข้าไปเชื่อมต่อและเสริมแรงกับศักยภาพที่มีอยู่แล้วในชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นของผู้ประกอบการเครื่องเงิน และจะเป็นโครงการที่สร้างเอกลักษณ์ในการทำงานตามบริบทของท้องถิ่นได้ ตลอดจนมีความเข้มแข็งและมีความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกันจากระดับชุมชนสู่สากล" นายฐวัฒน์ กล่าวในตอนท้าย
โครงการ สืบสานงานเงิน เปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 กรกฎาคม2561 สามารถติดต่อเพื่อขอรับใบสมัคร และติดตามรายละเอียดได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้ โทร. 062-463-3949 Facebook : สืบสานงานเงิน Line@ : @SilverCraftForThai Email : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit