วันนี้ (17 กรกฎาคม 2561) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.วรางคณา รัชตะวรรณ รักษาการแทนรอง คณบดีฯ วิทยาลัยราชสุดา ร่วมในพิธีเปิด Cafe Amazon for Chance ร้านกาแฟแห่งแรกที่ดำเนินการโดยผู้พิการด้านการได้ยิน เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาความสามารถ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการทางการได้ยินที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
นายเทวินทร์ฯ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงพลังของการดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่นำจุดแข็งของธุรกิจมาช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน จึงได้จัดตั้ง บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินงานทางด้านวิสาหกิจเพื่อสังคมให้กับ กลุ่ม ปตท. โดยมุ่งเน้นพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล เป็นสังคมแห่งความสุขร่วมกัน โดย Cafe Amazon for Chance เป็นอีกหนึ่งในโครงการวิสาหกิจชุมชนที่ได้นำความสำเร็จของธุรกิจคาเฟ่ อเมซอนมาสร้างคุณค่าให้สังคม ด้วยการพัฒนาทักษะการทำงานให้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้พิการที่มีมากเป็นอันดับ 2 รองจากผู้พิการทางร่างกาย และมักได้รับการจ้างงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา รวมทั้งไม่มีการอบรมพัฒนาความสามารถในสายอาชีพนี้อีกด้วย
นางสาวจิราพรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จของร้านคาเฟ่ อเมซอนที่มีมากกว่า 2,300 สาขาทั่วประเทศในวันนี้ จึงได้นำแนวทางการดำเนินธุรกิจมาปรับใช้ใน โครงการ Cafe Amazon for Chance โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการผ่านการจัดอบรมและฝึกฝนให้สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเป็นบาริสต้าตามมาตรฐานของร้านคาเฟ่ อเมซอนมีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการทำงานและการสั่งซื้อ รวมทั้งใช้นวัตกรรมใหม่อย่างเครื่องบดอัตโนมัติ (Hybrid Machine) และระบบ 2 หน้าจอ (Duo Screen) มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน จนสามารถเป็นบาริสต้ามืออาชีพในร้านคาเฟ่ อเมซอนได้สำเร็จในวันนี้
"สำหรับความพิเศษของสาขา Cafe Amazon for Chance แห่งนี้เราจะใช้เครื่องบดกาแฟแบบดิจิทัลที่ลดภาระการตวงกาแฟทำให้รสชาติของกาแฟมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เป็นการลดปัญหาความคลาดเคลื่อนในการเตรียมเครื่องดื่ม และทำให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะแต่ก่อนน้องๆ บาริสต้าผู้พิการนั้นจะเตรียมเครื่องดื่มช้ากว่าคนปกติเนื่องจากต้องเสียเวลาเพื่อใช้ในการสื่อสาร โดยเครื่องบดนี้จะชดเชยเวลาที่เสียไปให้สามารถเตรียมเครื่องดื่มได้รวดเร็วเท่ากับร้านปกติและการสั่งเครื่องดื่มโดยใช้เครื่องชำระเงินระบบ 2 หน้าจอ (Duo Screen POS) เป็นการลดความผิดพลาดของการสั่งสินค้า เพราะทางลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการของตนเองได้ทันที" นางจิราพรฯ กล่าว
ปัจจุบันร้านคาเฟ่ อเมซอนที่ดำเนินการโดยผู้พิการทางการได้ยินมีอยู่ 2 สาขา ณ สำนักงานอธิการบดี และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะขยายเพิ่มอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาบ้านเจ้าพระยา สาขาโรงพยาบาลแหลมฉบัง สาขากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายในสิ้นปี 2561 ซึ่งกำไรจากร้าน คาเฟ่ อเมซอนที่ดำเนินงานโดยผู้พิการทางการได้ยิน จะนำไปเป็นกองทุนในการพัฒนาอบรมและฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการต่อไป นายเทวินทร์ฯ กล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit