รศ.นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า การเสวนาในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การประชุมสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ครั้งที่ 9 ที่สมาคมฯ จัดร่วมกับองค์กรเครือข่ายกว่า 50 องค์กร เมื่อวันที่ 10-11 มี.ค. 61 ณ โรงแรมแคนทารี กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีการสรุปรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และมีประเด็นที่น่าสนใจ จึงนำมาสู่การต่อยอดขยายผลทางวิชาการในครั้งนี้ สำหรับสมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นมากว่า 24 ปี ปัจจุบันมีคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ เพื่อรณรงค์หาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทารุณสัตว์โดยสันติวิธี โดยเป็นผู้นำภาคประชาชนในการรณรงค์ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ร่วมกับองค์กรเครือข่ายผู้รักสัตว์ที่เป็นพันธมิตรกว่า 90 องค์กร กรมปศุสัตว์ และสภาทนายในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย
นายสุเทพ ยิ้มละมุล กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องหลักในการบังคับใช้กฎหมายและการออกกฎหมายลำดับรอง เรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และเรื่องการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ นั้นมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนเรื่องสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ตามนิยามมาตรา 3 นั้น ขณะนี้จะประกาศเพียง 5 ชนิดก่อน แล้วจะพิจารณาประกาศ รายชื่อสัตว์ป่าบางชนิดออกมาอีกเรื่อยๆ ตามลำดับต่อไป
ศ.สพญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต กล่าวว่า สำหรับการประกาศเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในขณะนี้ประกาศเป็นหลักการทั่วไปเพื่อให้ครอบคลุมในเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ทั้งหมด เช่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือผู้ได้รับการมอบหมาย จะต้องจัดให้สัตว์ได้รับอาหารและน้ำในปริมาณ และคุณภาพที่เหมาะสมแก่ชนิดและประเภทและอายุ จัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและความปลอดภัย จัดให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีการจัดการควบคุมโรคที่เหมาะสมและการรักษาเมื่อสัตว์เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า จัดให้สัตว์ไม่ให้ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานและจัดให้สัตว์ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและพลานามัยของสัตว์ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปของนานาอารยประเทศ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการออกประกาศ แยกตามชนิด ลักษณะ สภาพและอายุสัตว์ในแต่ละชนิดและประเภทต่อไป
นายเจษฎา อนุจารี กล่าวว่า สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสนอและผลักดันกฎหมายฉบับนี้ร่วมกับสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยและกรมปศุสัตว์ เป็นการทำงานร่วมกันเกือบ 20 ปี จนกฎหมายนี้ประกาศบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้ดีเป็นกฎหมายที่ได้ยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น โดยถือเอาสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมโลก แม้สัตว์จะไม่มีเจ้าของก็ตาม โดยมีการป้องกันการทารุณกรรมต่อสัตว์และกำหนดให้มีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ด้วยผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน กล่าวว่า รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิ่งมีชีวิตพื้นฐานตามธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ เพื่อให้มนุษย์รุ่นลูกรุ่นหลานสามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข ทั้งการคุ้มครองสัตว์ก็ถือเป็นความรับผิดชอบประการหนึ่งของมนุษย์ ในฐานะที่สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมบนโลกใบเดียวกัน ในต่างประเทศ แนวความคิดในการคุ้มครองสัตว์เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 แต่สำหรับประเทศไทย แนวความคิดนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จึงยังมีข้อที่ควรพัฒนาอยู่อีกหลายประการ
ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ เห็นว่า ในช่วง 3 ปีของการมีพ.ร.บ.ฯ นี้ สะท้อนหลายประเด็น เช่น กฎหมายนี้เป็นที่พึ่งของสัตว์ต่างๆ และคนที่เกี่ยวข้อง เกิดการให้ความสำคัญกับสัตว์ คิดถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่เขาร่วมโลกใบนี้กับเรา เกิดสังคมที่สมดุลมีความดีและยั่งยืนมากขึ้น ในแง่การรับรู้ประชาชนโดยทั่วไปรับทราบกฎหมายนี้ ทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดเกิดการยั้งคิด เวลาที่จะทำร้ายสัตว์ เกิดความร่วมมือขององค์กรในการช่วยบังคับใช้กฎหมายอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้นภารกิจสำคัญของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะองค์กรสำคัญที่ร่วมผลักดันกฎหมายนี้ คือการประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ จำนวนมากในการสร้างผลสำเร็จให้เกิดขึ้นในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ขอเป็นกำลังใจให้สมาคมฯ และภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งสื่อมวลชนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมไทยให้ดีงามยิ่งขึ้นต่อไป
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit