"โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งอ่อน" เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2549 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง บ้านห้วยมะเขือส้ม ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชดำรัสถึงความห่วงใยสภาพป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงดำรงชีวิตอยู่กับป่าซึ่งเป็นแหล่งลำธารได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน และให้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำ และดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้จัดทำโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน โดยนำภารกิจการดำเนินงานในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำตามพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงา ลุ่มน้ำปาย และลุ่มน้ำสะมาด - ห้วยหมากกลาง ไปดำเนินการ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งอ่อนซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงา จึงได้บรรจุอยู่ในโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน
และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานและเยี่ยมชมกิจกรรมในโครงการฯ ทั้งนี้เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้บังเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการฯ
นายสุรศักดิ์ วงศ์ชัย หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งอ่อน ได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2551 โดยกรมชลประทาน แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2552 เป็นอ่างเขื่อนดินมีความยาวสันเขื่อน 120 เมตร สันเขื่อนสูง 23 เมตร ปัจจุบันเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรในช่วงฤดูฝนด้วยการปลูกข้าว ในช่วงฤดูแล้งจะปลูกกระเทียมกับถั่วเหลือง ซึ่งมีน้ำจากอ่างแห่งนี้ส่งให้เพื่อบำรุงต้นพืชที่ปลูก และเพียงพอตลอดทั้งฤดูกาลโดยไม่มีปัญหา
ขณะที่นายอุทัย วงศ์ประเสริฐ ราษฏรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้ใช้น้ำ บ้านแม่สะงากล่าวว่า เมื่อก่อนนี้ราษฏรในพื้นที่จะทำนาปีละ 1 ครั้ง เป็นนาน้ำฝน หลังจากหมดฤดูทำนาก็ไม่ได้ทำอะไรอีกเพราะมีน้ำไม่เพียงพอ แต่ตอนนี้ชาวบ้านที่ทำนาไม่ต้องกังวลเรื่องฝนทิ้งช่วง เพราะมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพียงพอ ขณะที่พื้นที่บนเนินก็ปลูกพืชประเภทให้ผลได้เพราะระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น นาข้าวหลังเก็บเกี่ยวก็ปลูกพืชไร่ประเภทถั่ว และกระเทียมได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยมีน้ำเพียงพอเช่นกัน ทำให้ราษฏรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ทุกคนต่างเห็นผลประโยชน์จากอ่างฯ จึงมารวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกันบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็นน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกร่วม 300 คน
โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ ได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาโพง ปลาตะเพียน และปลาแก้มช้ำ รวมจำนวน 50,000 ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ เป็นอาหารโปรตีนตามธรรมชาติให้กับราษฏรในพื้นที่ต่อไปอีกด้วย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(