สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าว ปัจจุบันพบว่า ข้าวมีผลผลิตส่วนเกินจากความต้องการตลาด โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศประมาณ 71.8 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 32.63 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการทั้งในและนอกประเทศเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 30.88 ล้านตัน ดังนั้น จึงเกิดผลผลิตส่วนเกิน 1.75 ล้านตัน เมื่อคำนวณกลับเป็นพื้นที่จะมีเนื้อที่ปลูกข้าวมากเกินความต้องการ 2.6 ล้านไร่
ขณะที่พืชเศรษฐกิจหลักอีกหลายชนิดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 6.71 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 5.03 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการตลาดเฉลี่ยปีละประมาณ 7.95 ล้านตัน ดังนั้น ตลาดต้องการเพิ่มอีกถึง 2.92 ล้านตัน จึงเห็นควรเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังไปปลูกพืชอื่นที่ตลาดมีความต้องการ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เหมาะสมตาม Agri-Map ซึ่งกรณีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่นที่ 2 ช่วงพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ จะตรงกับช่วงนาปรังพอดี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถทำนาปีต่อได้เลย
สำหรับมันสำปะหลังโรงงาน กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มีนโยบายในส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังทดแทนการปลูกข้าว แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเดิม เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกข้าว มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวช่วง 8-12 เดือน อีกทั้งส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การปลูกข้าว โดยปัจจุบัน ไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.29 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 27.24 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 40.75 ล้านตัน จึงยังต้องการผลผลิตเพิ่มอีก 13.51 ล้านตัน ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อแปรรูปและส่งออก
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวย้ำว่า "แนวทางพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมหลังฤดูทำนาปีนั้น ไม่ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนเกษตรกรเลือกทำการเกษตรกรรมชนิดใด เมื่อผลผลิตทางการเกษตรชนิดนั้นออกมาแล้วต้องมีตลาดรองรับชัดเจน จึงได้ใช้รูปแบบหาตลาดตามแนวทางประชารัฐ" (จับคู่ธุรกิจเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กับภาคเอกชน) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ เกษตรกร เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และอาชีพมีความมั่นคง ช่วยให้ราคาข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศมีเสถียรภาพ ลดการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีวัตถุดิบใช้อย่างมั่นคง ประหยัดทรัพยากรน้ำและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ทั่วถึง มีวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการผลิตเอทานอลมาเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งประชุมภาครัฐ เอกชน เกษตรกร เพื่อตรวจสอบข้อมูล และระดมความคิดเห็น สำหรับจัดทำโครงการและมาตรการ โดยขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit