นางสาววันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า "ทรัพย์สิน ทางปัญญาเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างนวัตกรรมและบุกเบิกเทคโนโลยีในพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือความลับทางการค้า ไปจนถึงการสร้างตลาดสร้างแบรนด์ ที่เข้มแข็งด้วยเครื่องหมายการค้า รวมทั้งผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดดุลการชำระหนี้ในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำเครื่องมือประเมินศักยภาพสิทธิบัตร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประเมินศักยภาพของสิทธิบัตรที่สนใจได้ด้วยตนเองใน 5 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริบทของประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายศักยภาพในอนาคต ซึ่ง SMEs ไทย และผู้เล่นที่อยู่ในระบบนิเวศน์นวัตกรรม (Innovation Ecosystem) จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจระบบและเทคนิคการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การมุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงการวิจัยและนวัตกรรมสู่พาณิชย์ ด้วยการสร้างมูลค่าของธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด"
ภายในงานสัมมนา ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เป็นกูรูด้านทรัพย์สินทางปัญญากับการบริหารจัดการกลยุทธ์และนวัตกรรม ได้แก่ (1) ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อัจฉรา จันทร์ฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผล และการบริหารจัดการ (2) รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงหทัย เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ดร. จักรพงษ์ คงปัญญา ผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (4) ดร. ขวัญรัฐ ส่วนพงษ์ อาจารย์ประจำ สาขาการจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (5) ดร. พันธ์ณภัทร์ เศวตภาณุวงศ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และนวัตกรรม และ (6) ดร. อลิสรา สุริยสมบูรณ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และนวัตกรรม มาร่วมให้ความรู้ และตอบข้อสงสัยแก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้สนใจที่เข้าร่วมสัมมนากว่า 400 ราย
กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย IP IDE Center พร้อมให้บริการคำปรึกษาด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจรแก่ SMEs เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสามารถเข้ามาใช้บริการของศูนย์ IP IDE ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02 -547-5026 หรือ สายด่วน 1368