นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มอบหมายให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดทำบันทึกเหตุการณ์และภาพประวัติศาสตร์ การช่วยชีวิตกลุ่มเด็กและผู้ช่วยโค้ชทีมนักฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี่ ทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยจะลำดับเหตุการณ์อย่างรอบด้าน ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงในที่สุด
ขณะนี้ ได้รับรายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าว โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเชียงราย และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกและรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้น ณ ถ้ำหลวง รวมทั้งประสานขอข้อมูลจากกรมประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชนแขนงต่างๆที่มาทำข่าวในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลเหตุการณ์ประจำวัน ที่มีการวางแผนและดำเนินช่วยเหลือ ทั้งจากองค์กร และบุคคล ทั้งนักประดาน้ำหน่วยซีล รวมถึงอาสาสมัครชาวไทยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ แพทย์และพยาบาลที่เข้ามาช่วยเหลือทั้งองค์กร บุคคล ซึ่งเป็นจิตอาสาทั้งที่มาเป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งประชาชนจิตอาสาที่มาช่วยเหลือ อาทิ นักปีนเขาเก็บรังนก การสูบน้ำออกจากถ้ำ เปิดโรงทานทำอาหาร ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาด เป็นต้น โดยจะบันทึกทุกรายชื่อกับรายละเอียดที่ร่วมเข้าช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่องเทคนิคและระหว่างปฏิบัติการไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพ จึงต้องประสานงานขอสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ จะมีการรวบรวมข่าวสารต่างประเทศ รวมทั้งประสานงานขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องของข่าวสารจากประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากจดหมายเหตุครั้งนี้จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้นำประเทศ บุคคลสำคัญเสนอความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และแสดงความยินดีที่ปฏิบัติการสำเร็จ รวมถึงรวบรวมภาพการ์ตูน ภาพวาด บทเพลงของศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศที่ให้กำลังใจทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือเอาไว้ด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จดหมายเหตุนี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญระดับโลกที่คนทั้งโลกต่างให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระเมตตา และทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้งเป็นการหลอมรวมความสมานสามัคคี การส่งกำลังใจจากทุกฝ่าย ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ การประสานงานระดับชาติในการระดมกันวางแผนการดำเนินงานอย่างมีระบบตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ จะจัดทำจดหมายเหตุเป็น 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้สำนักหอจดหมายเหตุในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวบรวมข้อมูลให้รอบด้านและเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ขณะเดียวกันเตรียมจัดทำนิทรรศการเหตุการณ์กู้ชีพ 13 ชีวิต หมูป่าอะคาเดมี่ โดยนำเสนอเรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเหตุการณ์จนถึงการช่วยเหลือออกจากถ้ำ จัดแสดงทั้งส่วนกลาง และสัญจรไปส่วนภูมิภาค โดยแบ่งหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย 1. 13 ชีวิตหมูป่าติดถ้ำ 2. นาทีชีวิตวิกฤติเสี่ยงตาย 3. วิกฤตินี้รวมใจไทยเป็นหนึ่ง 4. ปฏิบัติการวาระแห่งโลก 5. อาลัย สดุดีวีรบุรุษถ้ำหลวง 6. บทเรียนที่โลกต้องจารึก 7. สรุปเหตุการณ์วันต่อวัน
นายวีระ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงขอเชิญชวนร่วมส่งภาพเหตุการณ์ ภาพวาด คลิปวีดิโอ หรือเอกสารข้อมูลการช่วย 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ไม่ว่าจะเป็นภาพการช่วยเหลือ ภาพจิตอาสาต่างๆเพื่อที่วธ.นำมารวบรวมจัดทำเป็นจดหมายเหตุมาที่ www. m-culture.go.th หรือ Line @ofl6289y หรือเฟซบุ๊ค Thai MCulture หัวข้อ บันทึกประวัติศาสตร์ช่วย 13 ชีวิตหมูป่าอะคาเดมี โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ถ่ายภาพ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 25 ก.ค.2561 สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit