ตั้งแต่อดีต ประเด็นเรื่องความหลากหลายของ "เพศ" เป็นอีกหนึ่งประเด็น ซึ่งได้รับการพูดถึงจากสาธารณะมาโดยตลอด มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ศาสนา หรือความเชื่อต่างๆ มากมาย ที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความหลากหลายเหล่านี้ และตีความให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แปลกแยกแตกต่างออกไป แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเปิดรับ และเข้าใจในความหลากหลายเหล่านี้มากขึ้น ทัศนคติ และความเข้าใจผิดเหล่านี้ จึงค่อยๆ เลือนหายไป เช่นจากรายงานล่าสุดขององการณ์อนามัยโลก ที่ประกาศว่าการเบี่ยงเบนทางเพศ ไม่จัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตเภทอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ มีทัศนะที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ ทั้งกับตนเอง และบุคคลรอบข้างเพิ่มมากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากอคติทางเพศ และเพื่อจุดกระแสสังคม ในเรื่องราวที่ประชาชนควรให้ความสำคัญ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการหมุนเวียนล่าสุดของมิวเซียมสยาม ในชื่อนิทรรศการ "ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination"
นางสาวชนน์ชนก พลสิงห์ ภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการ "ชาย หญิง สิ่งสมมุติ" สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า นิทรรศการ "ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination" เป็นอีกก้าวสำคัญของการจัดนิทรรศการหมุนเวียนของมิวเซียมสยาม ที่หยิบยกประเด็นซึ่งมีความละเอียดอ่อนในสังคม ที่มีทั้งกระแสทั้งในแง่บวกและลบ โดยทางทีมผู้จัดนิทรรศการเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตามพันธกิจของมิวเซียมสยามที่มุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้ายกระดับสังคม และมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจ และเปิดใจยอมรับ ในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ของทั้งตนเอง บุคคลใกล้ชิด
"ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศภาวะ และเพศวิถี ที่ทุกคนต่างก็ล้วนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไทย ต้องการได้รับการยอมรับ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับเพศชายและเพศหญิงที่สังคมให้การยอมรับ และรับรองสิทธิ"
นิทรรศการ "ชาย หญิง สิ่งสมมุติ" ได้รับการออกแบบให้เล่าเรื่อง ผ่าน 2 ส่วนการจัดแสดง ส่วนแรกคือ "เขาวงกตแห่งเพศ" ในรูปแบบทางวงกตกลางแจ้ง ที่จะชวนคุณตั้งคำถาม เกี่ยวกับการจำกัดคำนิยามทางเพศ ผ่าน "คำพูด" ที่พบเจอและถูกใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแฝงไว้ด้วยการตีกรอบของสังคมด้านเพศ การแบ่งคู่ตรงข้าม การเหยียด และการเหมารวม (Stereotype) ที่ถูกสั่งสมสร้างขึ้นในสังคมไทย อาทิ คำว่า "ชายชาตรี" ที่ถูกใช้เพื่อนิยามเพศ 'ชาย' แสดงออกถึงความแข็งแรง ห้าวหาญ กำยำล่ำสัน หรืออย่างคำว่า "ผ้าพับไว้" ที่ถูกใช้เพื่อนิยามลักษณะนิสัยของเพศ "หญิง" เรียบร้อย จริตประณีต เป็นแบบแผน เป็นต้น ซึ่งแท้จริงแล้ว ในสังคม เพศชาย อาจไม่ต้องมีรูปร่างกำยำล่ำสัน และเพศหญิงเอง อาจไม่ต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ ดังมายาคติที่สังคมสร้างขึ้น และเคยชินก็เป็นได้
ส่วนถัดมาเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ ที่ได้รับการออกแบบเป็นเส้นทางวงกต ภายใต้คอนเซ็ปต์ "โรงละคร" ครอบคลุมพื้นที่กว่า 715 ตารางเมตร นำเสนอเรื่องราวหลากมิติของความหลากหลายทางเพศ เริ่มต้นด้วยโซนชวนทำความเข้าใจเรื่องเพศด้วยโมเดลมนุษย์ขนมปังขิง ที่จะปลดล็อกมายาคติด้านเพศออกเป็นสองมิติ ระหว่างร่างกายและจิตใจ พร้อมกิมมิคบอดี้สแกนเนอร์ (Kinnect) ที่สะท้อนว่า เพศสภาพ เป็นเพียงลักษณะทางกายภาพภายนอก ที่ไม่สามารถใช้จำกัดความสำนึกทางเพศ การแสดงออก และความรู้สึกภายในได้
ถัดมากับโซน "ห้องน้ำไร้เพศ" นำเสนอการแบ่งนิยามทางเพศ ซึ่งจำกัดจากแค่เพียงเพศสภาพ ความเป็นชายและหญิงที่ถูกแบ่งแยกในพื้นที่สาธารณะอย่างเช่นห้องน้ำ พร้อมชวนตั้งคำถาม 'จะดีกว่าหรือไม่ หากมีห้องน้ำไร้เพศ ในที่สาธารณะ' เนื่องจาก ห้องน้ำเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด ที่เป็นการกำหนดกรอบทางด้านเพศ ที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิที่จะเลือกได้โดยอิสระ
"สำหรับบุคคลทั่วไป ห้องน้ำ อาจไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในความสนใจหรือได้รับการพูดถึงมากนัก แต่สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ พื้นที่แห่งนี้ เป็นอีกสถานที่สาธารณะหนึ่ง ที่เป็นประเด็นซึ่งสังคมควรตระหนักเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนึ่งตัวอย่างของสถานที่ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจรู้สึกถูกตัดสินและกีดกันออกจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศวิถี"
"บันทึก-เพศ-สยาม" เป็นอีกโซนที่ผู้เข้าชมจะได้ย้อนกลับไปศึกษาถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของความหลากหลายทางเพศในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ที่อาจไม่ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในบทเรียน เช่นการตีตราและการจำกัดสิทธิ์บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกฎหมายตราสามดวง ตลอดจนความเคลื่อนไหวของ 'สื่อ' อย่าง นิตยสาร และแอปพลิเคชัน ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ตามมาด้วยทางเดินชั้นลอยกับการจัดแสดงผลงานศิลปะอย่างภาพวาดที่สะท้อนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ จากจินตนาการ ของเยาวชนอายุระหว่าง 10 – 18 ปี โดยกลุ่มโรงน้ำชา เพื่อสนับสนุนประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่เยาวชน ก็สามารถรับรู้และเข้าใจในความหลากหลายเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสังคมเอง ก็ควรยอมรับและเข้าใจในความหลากหลายดังกล่าวเช่นเดียวกัน ต่อด้วยไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญ กับการใช้พื้นที่แสดงออกในสังคม เช่น การจัดขบวนพาเหรดไพร์ด (LGBTIQ Pride) ในประเทศไทย หรือการกำหนดวันความหลากหลายทางเพศ คุณชนน์ชนก กล่าวต่อ
"จากโจทย์ที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีทั้ง สุข-เศร้า-เคล้าน้ำตาและเป็นแรงบันดาลใจ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ โรงละครที่เล่าเรื่องราวชีวิตแบบครบรส จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของโซนไฮไลท์หลักในนิทรรศการ อย่าง ฉากชีวิต หรือ Scene of Life"
คุณชนน์ชนก กล่าวเสริมว่า ชีวิตของมนุษย์มีความหลากหลายและซับซ้อน เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการหยิบยกเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ผ่านการเปิดรับวัตถุจัดแสดงจากประชาชนทั่วประเทศ (Call for collection) วัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สิ่งของเหล่านี้ เป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง ตีแผ่ประสบการณ์ที่หลายคนอาจต้องประหลาดใจ เพราะเป็นมุมมองที่ไม่เคยได้รับรู้ หรือสัมผัสมาก่อน จนเกิดเป็นโซน "ฉากชีวิต" ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของนิทรรศการ ภายใต้คอนเซ็ปต์การนำเสนอในธีม 'โรงละคร' ที่คอยต้อนรับผู้เข้าชม ให้ได้ก้าวเข้าสู่ม่านละครชีวิตครบรส ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
วัตถุจัดแสดง กว่า 100 ชิ้น ที่ได้รับการจัดแสดงภายในนิทรรศการเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวมากมาย เพื่อเป็นตัวแทนเรื่องราว ที่สังคมควรตระหนัก และเข้าใจ ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการตีกรอบกำหนดทางเพศ อาทิ
"พวงหรีด" สิ่งของจากคู่รักที่ไม่สามารถเปิดเผยความสัมพันธ์ให้สังคม หรือแม้แต่คนรอบตัวได้รับรู้ และตั้งใจกันไว้ว่า เมื่อใดที่กฎหมายสมรสสำหรับเพศเดียวกันบังคับใช้ได้ พวกเขาจะเป็นคู่แรกที่จดทะเบียนสมรสกันในประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถ จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตของฝ่ายหนึ่งเสียก่อน คู่รักของเขาได้ส่งมอบพวงหรีดที่มีคำว่า "สุดรักสุดอาลัย จากภรรยา และครอบครัว" เพื่อเป็นสิ่งแทนสัญญาครั้งยังมีชีวิต
"วาโก้กับอีโต้" เรื่องราวของชายที่ต้องการทำตามใจปรารถนา ด้วยการเจียดเงินเก็บสำหรับไว้ซื้อรถมอเตอร์ไซค์เพื่อไปซื้อชุดชั้นในที่ตนรู้สึกชอบ แต่มารดากลับไม่เห็นด้วย และเอาอีโต้จามแบ่งครึ่งชุดชั้นในจนขาดเป็นสองท่อน สะท้อนประเด็นการยอมรับและอิสรภาพ ที่แม้แต่ในพื้นที่ของตนเองอย่างครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด ก็ยังขาดความเข้าใจในความหลากหลายดังกล่าวหรือ อย่างประเด็น "การใช้ฮอร์โมนเพศประเภทต่างๆ" ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในอดีต ที่สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษายังไม่ได้มีการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศดังกล่าว ต้องศึกษา เรียนรู้ และทดลองที่จะบริโภคด้วยตนเอง แม้ในขณะที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่ ตลอดจนเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขรองรับ สำหรับกลุ่มเพศดังกล่าวในด้านต่างๆ ที่ควรจะมีเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย
"มิวเซียมสยาม จัดทำนิทรรศการดังกล่าวขึ้น ไม่ได้เพื่อต้องการเรียกร้อง-ผลักดันสิทธิหรือกฎหมายในประเด็นดังกล่าว แต่เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ และเข้าใจในความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมไทย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากอคติ ตลอดจนเพื่อสร้างเสียงสะท้อนกลับไปสู่สังคมถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเคารพสิทธิความเท่าเทียม ในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษย์"
สุดท้ายกับโซน "ตบแต่งตัวตน" แบ็กสเตจของโรงละคร พื้นที่อิสระให้ทุกคนได้ทดลองแต่งตัว แบบไม่ต้องกังวลเรื่องกรอบของสังคมเรื่องเพศ ด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ต่างๆ ที่ถูกใช้และเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพจ ไม่ว่าจะเป็น วิกผม เสื้อกล้ามรัดหน้าอก ฟองน้ำเสริมหน้าอก ไปจนถึงเสื้อผ้าไร้เพศ ตลอดจนยังมีส่วนที่ให้ผู้เข้าชมสามารถแต่งแต้มสีสันสะท้อนตัวตนลงบน ตุ๊กตากระดาษ หรือ Gender Ticket ที่ได้รับมาก่อนเข้าชม และเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็นกับโพลสำรวจในประเด็นต่างๆ เช่น ห้องน้ำไร้เพศควรมีในประเทศไทยหรือไม่ การจดทะเบียนสมรสสำหรับบุคคลเพศเดียวกันควรมีหรือไม่ หรือ คำนำหน้าชื่อควรเลือกได้ด้วยตัวเองหรือไม่ เป็นต้น
เป้าหมายสูงสุดของผู้จัดทำคือ ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงของการรับชม นิทรรศการดังกล่าว สามารถจุดประกายให้ผู้เข้าชม สามารถตั้งคำถาม เรียนรู้ เข้าใจ คิดต่อยอด และออกความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยไม่ยึดติดกับกรอบทัศนคติการเหมารวม (Stereotype) เรื่องเพศได้อย่างปราศจากอคติ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ และให้ความใส่ใจเพิ่มมากขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกัน และเคารพความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ในสังคมโลก คุณชนน์ชนก กล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการ "ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination" เปิดให้เข้าชมแล้ว ตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2561 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.museumsiam.org
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit