"วาทกรรม คือชุดคำพูดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อกำกับควบคุมมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น ต้องปฏิบัติตามกฎเกณ์กติกา ถ้าฝ่าฝืนก็เท่ากับทำผิดกฎระเบียบของสังคม ซึ่งภายใต้วาทกรรมนี้เองทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล เพราะตัวมนุษย์เองต้องปรับตัวไปตามวาทกรรมที่ถูกกำหนดขึ้น"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวีรัศมิ์ พรหมรัตน์ ใช้เวลากว่า ๗ ปีในการศึกษา เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ผ่านการบ่มเพาะ หล่อหลอม สร้างสรรค์เป็นผลงานหลากหลายชุด
ระแวง, สภาพเสียสมดุล, สภาวะจิต, ห้องทดสอบสภาพจิต, วิตกกังวล, ภาพสะท้อนความขัดแย้งในใจ... ผลงานสีอะคริลิกบนผ้าใบ เป็นการวาดภาพจากภาพถ่ายของคนจริง ๆ ด้วยใบหน้า ท่าทาง ที่เต็มไปด้วยความเครียด วิตกกังวล ดึงความรู้สึกของคนดูให้มีแรงปะทะ ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งดวงตาที่ลุกโพลง ให้ความรู้สึกสะพรึงกลัว
มาถึงผลงานสู่ความเพ้อฝัน "บทสนทนาสอนลูก" การสร้างสัญลักษณ์บนหัวตุ๊กตา มีภาพพ่อ แม่ ลูก ที่เกิดจากการทับซ้อนในประวัติศาสตร์ ย้อนไปในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงใช้วิธีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ประชาชนมีความสุข ผิดกับยุคปัจจุบันคนมีความทุกข์จากสภาพสังคม จึงนำความทับซ้อนของประวัติศาสตร์มาเปรียบเทียบเชิงนัยยะ หรือการหยิบเอาสัญลักษณ์สมัยสุโขทัยมาใช้ในบริบทปัจจุบัน
สิ่งเร้ารอบตัว, ประสาทหลอน, ภาพหลอน...รูปทรงของมนุษย์ที่มีความพิกลพิการ เป็นการผสมผสานระหว่างโลกของความจริงกับโลกมายา มายาคือเรื่องของการ์ตูน ในขณะที่ความจริงคือคุณธรรม จริยธรรม เมื่อมนุษย์ทำผิด ผลกรรมย่อมสะท้อนออกมา โดยในการสร้างสรรค์นั้นได้นำแนวคิดของไตรภูมินรก ผสมกับตัวการ์ตูนที่แสดงกิริยาล้อเลียน เยาะเย้ย ถากถางคนที่มีรูปร่างแปลก ๆ อันเนื่องมาจากการทำบาปแล้วตกนรก
จากตัวอย่างผลงานแสดงให้เห็นถึงอานุภาพของวาทกรรมที่ส่งผลถึงผู้คนในสังคมอย่างชัดเจน ให้เราได้สะดุด หยุดคิดใคร่ครวญ ไตร่ตรองถึงการดำเนินชีวิต และยังเป็นแบบอย่างในการสร้างแนวคิด เพื่อพัฒนาผลงานศิลปะให้มีความร่วมสมัย เหมาะสมกับบริบท ณ ปัจจุบัน
นิทรรศการ การสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ "มนุษย์กับวาทกรรม" จัดแสดงตลอดเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ ในวันและเวลาราชการ ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๘
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit