ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยและพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ ทางสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดตั้ง "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุรอบด้าน โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำวิชาความรู้ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและเป็นการลดปัญหาทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม จากการถ่ายทอดความรู้โดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งจากภายใน มธ. และวิทยากรรับเชิญจากภายนอก ผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ผ่านความรู้ทั้ง 3 มิติ ได้แก่
1) มิติความรู้ที่ผู้สูงอายุต้องรู้ โดยเน้นความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน โดยมีรายวิชา อาทิ โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพฟันและการฝึกกายภาพบำบัดในทุกเช้า
2) มิติความรู้ที่ผู้สูงอายุควรรู้ โดยเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการดำเนินชีวิตในวัยชรา ผ่านรายวิชา อาทิ เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ กฎหมาย สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ สัจธรรม ชีวิตและความตาย และศาสตร์พระราชา "ชีวิตที่เป็นสุข"
3) มิติความรู้ที่ผู้สูงอายุอยากรู้ โดยความรู้ในมิตินี้ ผู้ร่วมโครงการจะเป็นกำหนดเอง เพื่อให้ตรงกับความสนใจของตนเองมากที่สุด โดยเน้นไปในแนวทางการส่งเสริมอาชีพ อาทิ กิจกรรมสอนทำอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน และกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เพื่อความผ่อนคลาย อาทิ กิจกรรมการเต้นลีลาศเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการทัศนศึกษาภายนอก อาทิ การศึกษาดูงานโครงการบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัย และมีการร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาซึ่งแสดงถึงศักยภาพและความสามารถ ศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุที่พร้อมจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม
สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่มีจำนวนเกือบ 10 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรในประเทศ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับแนวทางการจัดการคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจและสังคมของผู้สูงอายุในไทย ที่ยังคงขาดความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากสังคมส่วนใหญ่มองว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่ไม่เหมาะกับการกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงมักถูกทอดทิ้งให้อยู่ในที่พักอาศัยเพียงลำพัง ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคทางจิตและปัญหาด้านการดูแลตนเอง อาทิ โรคซึมเศร้า และการหกล้มในผู้สูงอายุ ซึ่งแท้จริงแล้วผู้สูงอายุและวัยเกษียณยังคงมีศักยภาพและพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง รวมทั้งยังเป็นวัยที่มีเวลาว่างและมีภาระหน้าที่น้อย เพียงแต่ยังคงขาดความรู้สมัยใหม่ อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งยังคงขาดความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการดำเนินชีวิต อาทิ สิทธิของผู้สูงอายุตามกฎหมาย การวางแผนทางการเงินให้เหมาะสม ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ใหม่ ๆ ให้กับผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวทางการพัฒนาวัยเกษียณให้มีคุณภาพ ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของประชาชนทุกวัยและทุกอาชีพ ในทุกเวลา เพราะเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ความรู้เดิมที่เคยมีอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานและการดำรงชีวิต มธ. จึงมีแนวคิดในการเปิดโครงการธรรมศาสตร์ตลาดวิชา (GENEX-ACADEMY) เพื่อเปิดโอกาสให้วัยทำงานและวัยเกษียณสามารถเข้าคอร์สเรียนเพิ่มเสริมทักษะ (Re-training) เพื่อทบทวนความรู้เดิม รวมทั้งแสวงหาความรู้ใหม่ ตามความต้องการได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้เท่าทันปัจจุบันและไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเอง โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรที่มีความต้องการของภาคแรงงาน เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีแนวคิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยการเรียนแบบออนไลน์ และไม่จำกัดวุฒิและอายุของผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถรับประกาศนียบัตร อนุปริญญาหรือปริญญาบัตร ตามข้อกำหนดของแต่ละหลักสูตรอีกด้วย
ทั้งนี้ งานแถลงข่าวเปิดตัว "โรงเรียนผู้สูงอายุ" จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องประชุมนิคม จันทรวิทุร อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news
บทสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่ร่วมโครงการโรงเรียนผู้สูงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางสุรภา ธรรมสัมคีติ ผู้เรียนในในโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ วัย 75 ปี กล่าวว่า โครงการ "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น แตกต่างจากหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุในหลายที่ โดยมิได้มีเพียงกิจกรรมสันทนาการให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ที่นี่ได้ให้ความรู้ผู้สูงอายุครอบคลุมทุกศาสตร์ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและนำไปวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคต นอกจากนี้การเข้าร่วมโรงเรียนผู้สูงอายุของ มธ. เปรียบเสมือนการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยการได้รับความรู้ใหม่ ๆ เป็นการฝึกสมอง ป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ดีวิธีหนึ่ง อีกทั้งการได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัด นับเป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองอย่างมาก สามารถลดการพึ่งพาบุตรหลานและพยาบาลอีกด้วย ในขณะที่สภาพจิตใจได้ถูกเติมเต็มจากการได้พบปะเพื่อนร่วมชั้นเรียน มีการพูดคุย สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมร่วมกัน จึงไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าที่มักพบในผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพัง และยังคงเป็นการส่งเสริมด้านสังคมอีกด้วย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(