ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุถึงการวางแนวทางการดูแลจิตใจของทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต จากการประเมินสภาพโดยทั่วไปของเด็กที่ปรากฏระหว่างนอนพักรักษาตัวที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ พบว่า เด็กยิ้มแย้มแจ่มใสดี
อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผลการประเมินสุขภาพจิต โดยทีมจิตแพทย์ของรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ภายหลังจากเด็กมีสภาพร่างกายอยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้ว
แต่โดยทั่วไปผู้ที่เผชิญกับสถานการณ์คับขัน ความยากลำบาก ความเครียดต่างๆ หลายคนมีจิตใจเข้มแข็งขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่สบายใจ อึดอัดใจหลงเหลืออยู่ลึกๆ แต่พบไม่มาก
มีผู้ที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญประมาณร้อยละ 3-4 และอีกประมาณร้อยละ 20 จะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้าหรือปัญหาการปรับตัว แต่ไม่มีอันตราย
เนื่องจากระหว่างที่เด็กอยู่ในถ้ำได้มีการทำสมาธิในขั้นหนึ่งมาแล้ว และการทำสมาธิในถ้ำมีสิ่งรบกวนน้อย จึงทำให้เกิดผลได้เร็ว ช่วยลดความเครียดทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำได้อย่างดีมาก และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกประหลาดใจเป็นอย่างมาก
ในการใช้ชีวิตหลังจากนี้ไป เริ่มตั้งแต่นอนพักรักษาตัวอยู่ในรพ. กรมสุขภาพจิตแนะนำให้เด็กทั้งหมดนี้ ปฏิบัติ 2 เรื่องง่ายๆ และทำได้เลย ประการแรก ได้แก่ ทำสมาธิอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งอาจจะใช้วิธีการหายใจเข้า-ออกช้า ๆ และมีสติอยู่ที่ลมหายใจทุกครั้ง ซึ่งการปฏิบัตินี้สามารถทำได้ทุกสถานที่
ประการที่สอง ให้ทบทวนเหตุการณ์เพื่อเป็นประสบการณ์ที่ดีของเด็ก ทำให้เด็กสามารถจัดการอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดกังวลถึงเหตุการณ์ขณะที่อยู่ในถ้ำ ทั้งสองเรื่องนี้ จะช่วยให้เด็กเกิดสมาธิ จิตใจสงบเป็นภูมิต้านทานทางใจ มีสติในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ
รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ออกไปใช้ชีวิตตามปกติอยู่กับครอบครัวในสังคมแล้ว ประการสำคัญอยากให้โค้ชเอกเป็นผู้นำให้ทีมฟุตบอลฝึกสมาธิทุกครั้งอย่างต่อเนื่องขณะก่อน และระหว่างแข่งบอล หรือใช้ขณะไปทำกิจกรรมผ่อนคลายเช่น การขี่จักรยาน ท่องเที่ยว เพราะเรื่องนี้ มีความสำคัญมากและเป็นแนวทางที่นักกีฬาระดับโลกใช้กันอย่างกว้างขวางและได้ผลดี ทำให้เกิดสติ มีความนิ่ง สามารถใช้เผชิญความเครียด ความกดดันระหว่างแข่งขันทุกแมตช์ ทุกช็อตได้ดี หมู่ป่าทั้ง 13 คนยังถูกรายงานในอีกหลายสื่อ อาทิ ซีเอ็นเอ็น ของสหรัฐฯ ไอริชไทม์ส ของไอร์แลนด์ และเอ็นดีทีวี ของอินเดีย
นอกจากนี้ สมาธิจะช่วยให้เด็กมีความจำดีขึ้น ในช่วงที่ครูจัดการเรียนการสอนเสริมพิเศษ หลังจากที่หยุดเรียนมานานกว่าครึ่งเดือน
สำหรับผู้ปกครองและญาติของทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ขอแนะนำให้ปฏิบัติ 5 ประการ ดังนี้ 1. ให้ดูแลเด็กตามปกติ 2. รับฟังปัญหา ปรึกษาให้การช่วยเหลือ เมื่อเด็กมีความต้องการ 3. ปฏิบัติต่อเด็กอย่างคงเส้นคงวา
4. ให้รางวัลเมื่อเด็กทำดี อาจเป็นคำชื่นชม ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของก็ได้ และลงโทษตามเหตุตามผล และ 5. ไม่ควรใช้สิ่งของเป็นข้อต่อรองเพื่อให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ
เนื่องจากจะทำมีผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก เป็นเด็กที่ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นในการพัฒนาเยาวชนไทยในอนาคต
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit