คาดการณ์กันว่า ในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 17.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 26.3% ของประชากรทั้งหมด มากไปกว่านั้นคือในปี 2583 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง 32.1% หรือราวๆ 20.5 ล้านคน
เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งภายใต้การนำของ จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ ได้เตรียมความพร้อมรับมือ "สังคมผู้สูงอายุ" อย่างเป็นรูปธรรม และฉายภาพความสำเร็จแล้วจากการสำรวจประชากรในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ช่วงอายุ 1 ปี – 100 ปี พบว่า มีจำนวนประชากรทั้งหมด 39,763 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 4,456 คน หรือคิดเป็น 11.2%
นายกฯ จารุวัฒน์ ได้เริ่มต้นจากการเชิญประธานชมรมผู้อายุในพื้นที่ จำนวน 13 แห่ง มาประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งจัดให้มีการประชุมประชาคม เพื่อสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากคนในพื้นที่
ผลสัมฤทธิ์จากการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน นำมาซึ่งข้อตกลงที่จะขับเคลื่อนงานร่วมกันในนาม "โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์" โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ดำเนินงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ และเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร
นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ เล่าว่า เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้ทำหน้าที่เสนอแนวคิด ส่งเสริมการขับเคลื่อนงานของประชาชน และเป็นหน่วยประสานงานอำนวยความสะดวกเท่านั้น โดยในช่วงเริ่มต้นได้จัดกิจกรรมพาคณะผู้สูงอายุไปศึกษาดูงานโมเดลต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุเข้มแข็ง ที่ จ.เลย
ขณะเดียวกัน ได้อำนวยความสะดวกพื้นที่อาคารเทศบาล สำหรับใช้เป็น "โรงเรียนผู้สูงอายุ" และอุดหนุนทุนดำเนินการให้โรงเรียน จำนวน 100,000 บาท
สำหรับการบริหารจัดการนั้น "ผู้สูงอายุเป็นผู้ขับเคลื่อนงานเองทั้งหมด" ปัจจุบันมี "ลำใย พิมพะนิตย์" ข้าราชการเกษียณบำนาญ เป็นครูใหญ่ ทำงานร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานและขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โดยทุนดำเนินการมาจากการลงขันของกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงการเสนอโครงการของบประมาณจัดกิจกรรม จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
ในส่วนของ "หลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน" นั้น ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการสำนักการศึกษา และกลุ่มข้าราชการเกษียณบำนาญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาช่วยออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ แนวทางป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ การดูแลสุขภาพกายและใจอย่างถูกวิธี ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง
"โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เปิดสอนทุกวันพฤหัสบดี โดยช่วงเช้าเป็นกิจกรรมอภินันทนาการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมเชิงวิชาการตามหลักสูตร ส่วนวิทยากรได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม อาทิ การฝึกสมาธิ อานาปานสติ การแสดงธรรมเทศนา โดยพระสงฆ์ หรือการเปิดหน่วยให้บริการและฝึกปฏิบัติการทำกายภาพบำบัด โดยเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดของโรงพยาบาล และการบรรยาย เรื่องสิทธิสุขภาพ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึง การสอนรำไทย และการเต้นลีลาศ โดยทีมวิทยากรจากวิทยาลัยนาฎศิลป์ ฯลฯ" นายจารุวัฒน์ อธิบาย
รูปธรรมความสำเร็จของโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ คือผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น โดยประเมินผลจากผลการตรวจสุขภาพก่อนเข้าเรียนกับผลสิ้นปี พบว่าผู้สูงอายุมีสุขภาพกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ระดับความเสียงที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ลดลง มีความสุขกับการเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ทำร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่าง องค์กรการกุศล สภาหอการค้าจังหวัด สภากาชาดจังหวัด เช่น จัดแสดงรำวงพื้นบ้าน บรรยายองค์ความรู้ เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับเสียงสะท้อนจากคนในครอบครัวว่า ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น และมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าเรียนทุกวันพฤหัสบดี
เขา เล่าต่อว่า เมื่อปี 2558 ได้ส่งผลงาน "โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์" เข้าประเมินรางวัลธรรมมาภิบาลการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ ได้รับเงินรางวัลจำนวน 350,000 บาท จึงนำเงินมาใช้พัฒนาอาคารเรียนหลังเก่าให้เป็น "ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ" แบบครบวงจร เนื่องจากผู้สูงอายุมีหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงเยี่ยมบ้านและให้การรักษาต่อไป
อาคารหลังนี้ นอกจากใช้เป็นอาคารเรียนของผู้สูงอายุทุกวันพฤหัสบดีแล้ว ยังเปิดให้บริการ ห้องประชุม ห้องฟิตเนส ห้องสมาธิ ห้องเสริมสวย และห้องคาราโอเกะ ด้วย โดยเปิดให้บริการทุกวัน
"ผลการดำเนินงานของโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้รับการกล่าวขานสู่สังคมในวงกว้าง นำไปสู่การเป็นโมเดลโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเปิดพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่นำไปสู่การเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นคลังภูมิปัญญาของผู้สูงอายุที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อใช้สืบทอดให้กลุ่มคนรุ่นหลังได้ในอนาคต" จารุวัฒน์ ระบุ
ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ภายใต้การเอาจริงเอาจังของผู้นำ และความร่วมไม้ร่วมมือของคนในพื้นที่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit