นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2561 "เศรษฐกิจภูมิภาค ในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ยังคงขยายตัว นำโดย ภาคตะวันออก และกทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 29.8 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดระยองและชลบุรี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 22.9 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.3 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ดียอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ยังคงหดตัว ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 14,318 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.4 และ 15.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 107.6 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 25.4 ต่อปี ตามการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร นครปฐม และนนทบุรี เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 8.3 และ 12.5 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 10,519.7 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 14.9 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี รวมถึงเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,815 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.3 และ 11.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 22.8 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี และสระบุรี เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรามาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 29.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 7.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.2 และ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 94.6 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสตูล เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 26.9 ต่อปี และเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 11,162 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 177.6 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสงขลา ยะลา และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.4 และ 13.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดฝั่งอันดามัน เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมิถานายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน พะเยา และ เชียงราย เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 4,329 ล้านบาท จากการลงทุนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.7 และ 6.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และ กาฬสินธุ์ เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 และ 9.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมิถุนายน 2561 ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2561 ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit