นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การปลูกข้าวในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ทั้งการปักดำ การหว่านข้าวแห้ง และการหว่านข้าวงอก ที่แตกต่างกันออกไปซึ่งศูนย์ข้าวชุมชน ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรผู้ปลูกพันธุ์ข้าว กข 6 ต้นเตี้ย และ กข22 จังหวัดหนองคายที่ใช้ภูมิปัญญาและเทคนิคด้วยวิธีการทำนาแบบปาเป้า ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบปราณีต เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตข้าว โดยใช้ตลาดนำการผลิต อีกทั้งยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่สนใจอีกด้วย
จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) ณ ศูนย์ข้าวชุมชนหมู่ 8 บ้านสีชมภู ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งมีนายสุระพงค์ ผุดผ่อง เป็นประธานศูนย์ฯ ที่ได้เรียนรู้และทดลองการทำนาปาเป้าจนประสบผลสำเร็จ สามารถลดต้นทุนลงจากเดิมที่เคยทำนาดำใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 10-15 กิโลกรัม/ไร่ เหลือเพียง 3 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลงจากเดิม450 บาท/ไร่ เหลือ 90 บาท/ไร่) และลดการใส่ปุ๋ยจากเดิม 100 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 11 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลงจากเดิม 1,600 บาท/ไร่ เหลือ 176บาท/ไร่) โดยผลผลิตที่ได้มากกว่าการทำนาทั่วไปประมาณ 591 กิโลกรัม/ไร่ (ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2560/61 จังหวัดหนองคายอยู่ที่ 364 กิโลกรัม/ไร่)
ด้านนางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวเสริมว่าจากการพูดคุยกับนายสุระพงค์ประธานศูนย์ฯ ได้เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวตนเองได้ทำนาและปลูกยาสูบ และด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว จึงได้ศึกษาดูงานจากศูนย์วิจัยข้าวหนองคายเมื่อปี 2554 และได้เรียนรู้การทำนาเพื่อเพาะปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวขายทดแทนการทำนาเพื่อขายข้าวให้กับทางโรงสี จนผ่านการรับรองจากศูนย์วิจัยข้าว แต่ยังคงมีความสนใจในองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อเนื่อง จนกระทั่งได้พบวิธีการทำนาแบบประณีตด้วยการทำนาปาเป้า มีการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจนเข้าใจ และปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้ทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งจากการลงทุนผลิตข้าวในปีเพาะปลูก2560/61 ในพื้นที่การเพาะปลูกข้าว 3 ไร่ ด้วยวิธีการทำนาปาเป้า มีต้นทุนรวม 3 ไร่ จำนวน 8,528 บาท ผลผลิต 2,865 กิโลกรัม นำไปขายเป็นเมล็ดพันธุ์ 2,225 กิโลกรัมๆ ละ 30 บาท เป็นเงิน 66,750 บาท ซึ่งเมื่อหักต้นทุนแล้ว ได้กำไรสุทธิ 58,222บาท/ปี นอกนั้นเก็บไว้บริโภค 630 กิโลกรัม และทำพันธุ์ของตนเอง 10 กิโลกรัม
สำหรับการทำนาปาเป้าคล้ายคลึงกับการทำนาโยน แต่ได้พัฒนาเทคนิคจากการโยนขึ้นฟ้าเป็นการโยนต้นกล้าลงแปลงนาที่มีการเตรียมดินอย่างปราณีตโดยตรงแทน สามารถกระจายระยะต้นข้าวได้ดี โดยมีขั้นตอนในการเตรียมถาดหลุมสำหรับเพาะต้นกล้า ส่วนการเตรียมดินในแปลงนาทำเช่นเดียวกับการทำนาโยน ที่สำคัญการทำนาปาเป้าสามารถกำหนดระยะแถวของต้นข้าวให้เป็นระเบียบเพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา กำจัดวัชพืช ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และยังเป็นวิธีการหนึ่งที่ลดการใช้สารเคมีพวกยาฆ่าแมลงทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอีกด้วยทั้งนี้ ท่านที่สนใจสามารถขอรับคำแนะนำหรือศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสีชมพู พื้นที่หมู่ 8บ้านสีชมภู ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายสุระพงค์ ผุดผ่อง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน โทรศัพท์085 085 4193ID Line: surapong258 หรือนายธีรพล ผุดผ่อง โทรศัพท์ 083 454 7387
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit