ธนาคารจิตอาสา และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงจัดกิจกรรม 'เพื่อนอาสาVolunteer Dialogue' ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ในคนไทย หวังให้เกิดการ 'ฟังสร้างสุข' คือการนำกระบวนการฟังไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา เพื่อการค้นพบความสุขที่จริงแท้ในตัวเอง
อ.ธนัญธร เปรมใจชื่น ผู้อำนวยการ Seven Presents / กระบวนกรการเปลี่ยนแปลงด้านใน / กระบวนกรในการดำเนินกิจกรรมเพื่อนอาสา Volunteer Dialogue กล่าวว่า "การฟังอย่างมีคุณภาพนับเป็นหัวใจหลักในการที่จะดูแลสุขภาวะทางกาย จิต สังคมและปัญญาให้กับผู้คน การฟังจะทำให้คนกลับมารับรู้ตัวเอง รับรู้โลกรอบตัวอย่างจริงแท้และตรงไปตรงมา...ทุกวันนี้เวลาที่ใครบอกว่าอะไรดี คนจะวิ่งไปตามกระแสไปเพื่อที่จะไขว่คว้าให้ได้สิ่งนั้นอย่างรวดเร็ว จนลืมไปว่ามันเหมาะกับเราไหม เราอยากได้สิ่งนั้นจริงหรือเปล่า...แต่ถ้าเราเรียนรู้การฟังอย่างแท้จริง เราจะได้ย้อนกลับมาเข้าใจตัวเราเองมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะทางปัญญา คือการกลับมาค้นพบคุณค่าความหมายบางอย่างที่มันเป็นปัญญาที่เอื้อกับชีวิต ทั้งทางกาย จิตใจ และมิติเชิงจิตวิญญาณแบบลึกด้วย เราจะเกิดปัญญาในการใคร่ครวญพิจารณาว่าสิ่งไหนที่เราควรจะกินหรือไม่กิน...จะรับหรือไม่รับ...ไม่วิ่งกระโจนตามกระแสจนบางครั้งเราอาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว"
ด้านผู้จัดกิจกรรม โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์ จากธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า "จากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งเรียกได้ว่าเป็น 1ในงานจิตอาสาได้เลย นั่นคือการเป็นอาสารับฟัง ซึ่งสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา กับคนรอบข้างของเราไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนที่ทำงาน...เพราะการรับฟังอย่างลึกซึ้งจะทำให้เราเข้าใจและเห็นโลกในมุมมองของคนตรงหน้าเรามากขึ้น เราจะพบว่าเราจะมองเห็นโอกาสในการดูแลตัวเรากับคนตรงหน้าได้ดีขึ้น พบเส้นทางใหม่ในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างกัน ส่งผลให้เราสามารถจัดการอารมณ์ ความเครียด และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งได้ดีขึ้นด้วย"
ในส่วนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่าง ประกายดาว ราชปรากฎ ก็พบว่า กิจกรรมนี้ให้สิ่งที่เกินความคาดหมาย "มันไม่ใช่แค่การฟังอย่างเดียว แต่มันช่วยฟื้นฟูจิตใจของเราได้เลย เพราะที่ผ่านมาเราจะรู้สึกไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง บางทีอยากจะพูดอะไรก็ไม่กล้าที่จะพูด เก็บกดเอาไว้ แต่กิจกรรมนี้ทำให้เราได้กลับมามองเห็นตัวเอง เรียนรู้จักการมีพื้นที่ของตัวเอง ฝึกที่จะพูดและฟังอย่างมีคุณภาพมากขึ้น"
ขณะที่ ณอัญญา สาวิกาชยะกูร ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำงานด้านให้คำปรึกษากับผู้อื่น ก็รู้สึกชื่นชมและประทับใจกิจกรรมครั้งนี้ หลังจากครั้งแรกที่เธอได้มาและนำกลับไปใช้ในการทำงานและการดูแลความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว "การมาเข้ากิจกรรมทำให้เราเข้าใจถึงการฟังแบบที่เรียกว่า เข้าใจตรงจุดที่เขาเป็น ไม่ใช่ตรงจุดที่เราเป็น ที่ผ่านมาพอฟังอะไรปุ๊บ เรามักจะเอาตัวเราไปตัดสินคนอื่น แต่พอมาเรียนแล้ว เราจะเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้าเรามากขึ้น เรียนรู้ที่จะไม่ตัดสิน....เพราะบางทีเวลาที่เราเป็นทุกข์ สิ่งเดียวที่เราอยากได้ก็คือคนรับฟัง ...ทุกวันนี้ก็เอาไปใช้กับคนรอบตัว คนที่บ้าน ทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้นมาก"
กิจกรรมเพื่อนอาสา Volunteer Dialogue โดยธนาคารจิตอาสาและ สสส. จัดเป็นประจำทุกเดือน เปิดรับประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารจิตอาสา www.JitArsaBank.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit