นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายดังกล่าว ก็จะเร่งดำเนินการเชิญคณะกรรมการประชุมนัดแรกทันที ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้
1.เป็นศูนย์ประสานและอำนวยความสะดวกแก่การผลิตสื่อไทยและต่างประเทศทุกรูปแบบที่ตรงตามความเป็นจริง ไม่กระทบจิตใจและสิทธิผู้ประสบภัยและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบริหารจัดการของผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤต การรวมพลังสามัคคี มีน้ำใจ จิตอาสาและมิตรไมตรีจากต่างประเทศ
2.ในกรณีเห็นว่าเหมาะสมและมีความพร้อม อาจผลิตหรือร่วมผลิตสื่อบางประเภทกับผู้อื่น
3.จัดทำจดหมายเหตุและการจัดนิทรรศการไปยังที่ต่างๆ
4.ให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยและบุคลากรอื่นๆ
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงานตามความเหมาะสม
6.รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ
และ 7.ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ต้องการเข้ามาควบคุมหรือกำหนดข้อห้ามต่างๆ แต่จะทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน เสริมสร้างภาพลักษณ์และอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ทีมหมูป่าและครอบครัวในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีความเห็นว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วยเหลือ 13 หมูป่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศและเป็นการส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ทั้งของต่างประเทศและภาพยนตร์ไทย รวมถึงการผลิตภาพยนตร์ร่วมระหว่างไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ที่ครอบคลุม ภาพยนตร์เรื่องยาว สารคดี หนังสั้น ซึ่งโดยข้อกำหนดของกฎหมายเนื้อหาหรือเรื่องราวของข่าวและเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปไม่มีลิขสิทธิ์ไม่มีเจ้าของและไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังนั้นผู้ใดก็สามารถสร้างภาพยนตร์ วีดิทัศน์และแอนิเมชั่น เผยแพร่ได้ สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติกรณีการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยต้องขออนุญาต โดยส่งบทภาพยนตร์ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาตามกฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 20 และการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยและต่างประเทศ โดยใช้สถานที่จริงต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ การโฆษณาเผยแพร่สื่อใดๆ เกี่ยวกับเด็กและผู้ปกครอง ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ เพราะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 คุ้มครองอยู่
รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญระดับโลกที่บุคคลสำคัญ สำนักข่าวต่างประเทศ สื่อมวลชนไทยทุกแขนงให้ความสำคัญนำเสนอข่าว สารคดีอย่างต่อเนื่องทำให้นานาประเทศได้เข้าใจและรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ได้รับรายงานล่าสุดว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการไทย และต่างประเทศ สนใจที่จะผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยถ้ำหลวงมาแล้ว 12 โครงการ แบ่งเป็น โครงการของผู้ประกอบการไทย 4 โครงการ โครงการร่วมทุนของผู้ประกอบการต่างประเทศและไทย 6 โครงการและโครงการของผู้ประกอบการต่างประเทศ 2 โครงการ แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญของโลก เนื่องจากมีเอกชน ผู้ประกอบภาพยนตร์ แสดงความจำนงต้องการผลิตภาพยนตร์พร้อมๆ กันจำนวนมากเช่นนี้
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit