นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ไม่ถูกต้องที่สั่งสมมาช้านานในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้มีใช้อย่างยั่งยืน
สำหรับ ข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น กรมประมงขอเรียนชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมประมง ดังนี้
(1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ในรอบปีที่ผ่านมากรมประมงได้ตอบรับข้อเสนอของชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง โดยได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยในการเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงต่างด้าวเพื่อมาทำงานในเรือประมง มีคนต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนและขอรับหนังสือคนประจำเรือในครั้งนั้นจำนวน 13,455 ราย ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวประมง ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเล โดยมีข้อสรุปให้ขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง ฯ ในครั้งที่ผ่านมา จำนวน 13,455 ราย ที่จะหมดอายุการทำงานในวันที่ 30 กันยายน 2561 ซึ่งกรมการจัดหางาน จะนำเรื่องเสนอไปยังอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) เพื่อพิจารณาอนุมัติแนวทางการขยายเวลาทำงานไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพื่อให้เท่าเทียมกับแรงงานประมงทะเลที่ถูกต้องตามกฎหมายเดิม ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาพรวม กรมประมงจะหารือและนำเสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเรื่องเข้าอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของชาวประมงต่อไป
(2) ปัญหากฎหมาย ที่ให้เจ้าของเรือประมงต้องดำเนินการ 12 ข้อให้ครบถ้วน อาทิ ต้องมีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตการทำประมง ใบอนุญาตนายท้ายเรือ ฯลฯ ก่อนมีการแจ้งออกไปทำการประมง ผ่านศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก นั้น ข้อกำหนดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประกาศของกรมประมงฯ ที่ออกตามมาตรา 82 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งประกาศฯ ฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของเรือประมง ก่อนออกไปทำการประมง ซึ่งกรมประมงได้มีการหารือร่วมกับชาวประมงถึงข้อขัดข้องดังกล่าว โดยได้เตรียมปรับปรุงประกาศฯ ฉบับดังกล่าว เพื่อลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ (12 รายการ) และอำนวยความสะดวกแก่ชาวประมงในการแจ้งเข้าแจ้งออกทำการประมง เนื่องจากปัจจุบัน กรมประมงและกรมเจ้าท่าได้มีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิคส์ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว การตรวจสอบเอกสารและการขออนุญาตต่างๆ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้จากระบบอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องให้ชาวประมงยื่นเอกสารดังกล่าวอีกต่อไป โดยจะลดเอกสารที่ต้องยื่นจากเดิม 12 รายการ เหลือเพียง 5 รายการเท่านั้น ได้แก่ 1.สำเนาทะเบียนเรือไทย 2.สำเนาใบอนุญาตใช้เรือ 3.สำเนาใบอนุญาตให้ทำการประมง 4.จำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ 5.หลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญ โดยเจ้าของเรือสามารถยื่นเอกสารได้ด้วยตนเอง หรือ ยื่นผ่านระบบSingle Window 4 Fishing Fleet ในเว็บไซต์ http://fpipo.md.go.th โดยจะทำการยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ต้องยื่นในแต่ละครั้งที่มีการแจ้งออกทำการประมงอีกต่อไป ยกเว้น ในส่วนของเอกสารจำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือที่จะต้องยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการแจ้งเข้าแจ้งออกทุกครั้ง
(3) ปัญหาข้อขัดข้องของการปฏิบัติตามกฎหมายประมง เนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ ได้มีการใช้บังคับมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แม้นว่าจะมีการปรับปรุงมาครั้งหนึ่งแล้วในปีที่ผ่านมา ก็อาจยังไม่ครบถ้วน ประกอบกับมีข้อเรียกร้องจากกลุ่มประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงเพิ่มเติม โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพการทำประมง ซึ่งจะประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และผู้แทนชาวประมงทั้งจากพื้นบ้านและพาณิชย์ โดยมีนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะมีหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง ผู้ประกอบการประมง และนำปัญหาข้อร้องเรียนของชาวประมงและบทบัญญัติบางประการในกฎหมายการประมงที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มาพิจารณาหาข้อยุติเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอปรับปรุงกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบการประมงให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งนี้ เบื้องต้นมีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง และได้ข้อสรุปถึงแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว อยู่ในระหว่างการเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่ต้องรอผลการศึกษาทางวิชาการมาประกอบ
(4) ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) : เนื่องจากเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า ออก นั้นมาจากหลายหน่วยงาน กรมประมงจึงได้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการการตรวจเรือเข้า-ออก สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ มีการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการแจ้งเข้าออกเรือประมง นอกจากนี้ได้มีการหารือร่วมกับชาวประมงเพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวประมงโดยที่ยังคงสามารถเฝ้าระวังมิให้เกิดการทำการประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
(5) ปัญหาเรื่องเรือปั่นไฟ : ปัญหากรณีนี้ เป็นประเด็นเกี่ยวกับใบอนุญาตของนายท้ายเรือ และช่างเครื่องเรือ ซึ่งชาวประมงประสงค์จะให้สามารถเป็นบุคคลคนเดียวกันได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข
(6) ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน : จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน หรือ ซื้อเรือคืน ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 โดยมีกลุ่มเรือเป้าหมายที่จะซื้อเรือคืนเพื่อลดจำนวนกองเรือประมงให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ กลุ่มเรือเป้าหมายที่จะนำออกนอกระบบจะต้องเป็นเรือประมง ที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ติดคดีใดๆ ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง แจ้งจุดจอด ตรึงพังงา และจัดทำ UVI (อัตลักษณ์เรือ) จากกรมเจ้าท่าเรียบร้อยแล้ว โดยการจัดซื้อครั้งนี้จะจัดซื้อตามสภาพของเรือในปัจจุบัน แต่จะไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2558 สำหรับการจัดซื้อเรือคืนจะแบ่งการจัดซื้อเป็น 3 ระยะ ระยะแรกจะเริ่มจากเรือประมงขนาดเล็กและกลางขนาด10 – 60 ตันกรอส จำนวน 409 ลำ ระยะ 2 เรือประมงขนาด 60,80 - 150 ตันกรอส จำนวน 166 ลำ และระยะที่ 3 ขนาดเกินกว่า 150 ตันกรอส จำนวน 104 ลำ สำหรับขั้นตอนในทางปฏิบัติขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ โดยจะมีศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฏหมาย(ศปมผ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็จะเร่งดำเนินการจัดซื้อเรือออกนอกระบบโดยด่วน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปในส่วนของเรือที่ภาครัฐได้นำออกจากระบบ ลำที่ยังมีสภาพดีจะนำไปทำเป็นปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศต่อไป
(7) ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบติดตามเรือประมง (VMS) : ประเด็นขอเรียกร้องนี้ เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบ VMS ในช่วงที่เรือจอดชาวประมงก็ต้องรับภาระ ซึ่งตามประกาศกรมประมงที่เกี่ยวข้องฯ มีข้อกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์หรือผู้ควบคุมเรือต้องดูแลระบบติดตามเรือประมงให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ทั้งขณะที่ออกทำการประมงและขณะที่จอดเทียบท่า กรณีเรือประมงประสงค์ขอแจ้งปิดระบบติดตามเรือประมงให้สามารถทำได้เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ กรมประมงได้มีการหารือร่วมกับชาวประมงถึงข้อขัดข้องดังกล่าว โดยชาวประมงเสนอให้มีการปรับแก้ไขประกาศฯ เพื่อเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการแจ้งขอปิดระบบติดตามเรือประมงเพิ่มเติมได้ในกรณีจำเป็น โดยให้มีการกำหนดมาตรการอื่นเพื่อป้องกันมิให้เรือประมงออกไปทำการประมงในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งกรมประมงอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมดังกล่าว
(8) ปัญหาเตรียมเสนอให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 : ปัญหาดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit