CPT จับมือพันธมิตร สร้างนวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการโรงเลื่อยไม้ภาคใต้ ปรับปรุงระบบพลังงานลดต้นทุนการผลิต เดินหน้าคว้างาน 22 โครงการ มูลค่า 1,320 ล้านบาท คาดรับรู้รายได้ทั้งหมดในปี 62

23 Jul 2018
'ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์' หรือ CPT ผู้ให้บริการระบบไฟฟ้ากำลังสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงการแข่งขันแก่ภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมถึงการจำหน่ายอุปกรณ์ มอเตอร์ขนาดใหญ่และระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้บริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย (ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิตตู้ไฟฟ้ารายอื่น) ร่วมทุน ไทย เทอร์โบ เจนเนอร์เรเตอร์ (TTG) ตั้งบริษัทร่วมทุน สร้างนวัตกรรม ออกแบบและก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับโรงเลื่อยไม้ ลุยคว้างาน 22 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1,320 ล้านบาท คาดดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการพร้อมรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในปี 2562

นายสมศักดิ์ หลิมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT ผู้ให้บริการระบบไฟฟ้ากำลังสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงการแข่งขันแก่ภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมถึงการจำหน่ายอุปกรณ์และระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้บริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย เปิดเผยว่า บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลขึ้นมาใหม่ โดยได้ถือหุ้นร่วมกับ บริษัท ไทย เทอร์โบ เจนเนอร์เรเตอร์ จำกัด (สัดส่วน 60:40) ที่มีความชำนาญทางวิศวกรรมด้านหม้อไอน้ำ (Boiler) การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass Co-Generation) และการปรับแต่งระบบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Efficiency Optimization) โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ซีพีที-ทีทีจี อินโนเวชั่น จำกัด โดยเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการนำเศษไม้ (Wood chip) จำนวนมากที่เป็นของเหลือจากการผลิตของโรงเลื่อยไม้ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 300 โรงในภาคใต้ ซึ่งสามารถนำเอามาเป็นเชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกเหนือจากการใช้ความร้อนของไอน้ำในการอบไม้ได้เหมือนเดิมแล้ว ยังสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานในโรงงานได้เองอีกด้วย

"จากที่ทีมงานร่วม CPT-TTG ได้เก็บข้อมูลและศึกษาในเบื้องต้น เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยทำให้โรงเลื่อยไม้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 20-25 ล้านบาทต่อปีต่อโรง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อนำเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กขนาด 1เมกะวัตต์ หรือ 1 MW Biomass Co-Generation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสูงกว่าที่โรงไม้ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งลดมลพิษได้มากกว่าระบบเดิม มาช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคใต้ให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดภาระการใช้ไฟฟ้าของโรงงานเลื่อยและอบไม้ซึ่งมีอยู่กว่า 300 โรงในภาคใต้ ทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีเสถียรภาพมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการของบริษัทใหม่ แบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก ดำเนินการจำหน่ายและติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 2 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 120 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเดือน กันยายน 2561 แล้วเสร็จประมาณ มีนาคม 2562

เฟสสอง ดำเนินการจำหน่าย ติดตั้ง และให้ Financial Lease เครื่องผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลจำนวน 10 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 600 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเดือน พฤศจิกายน 2561 แล้วเสร็จประมาณ มิถุนายน 2562

และเฟสสาม ดำเนินการจำหน่าย ติดตั้ง และให้ Financial Lease เครื่องผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลจำนวน 10 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 600 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเดือน มกราคม 2562 แล้วเสร็จประมาณ กรกฎาคม 256 โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้ที่มาจาก Financial Lease, Maintenance Services และ Recurring Income อื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมี EBITDA Margin อยู่ที่ประมาณ 25-30%

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะร่วมพัฒนาเครื่องผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลให้ได้ไม่น้อยกว่าอีก 50 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมอีกประมาณ 3,000 ล้านบาทภายในปี 2563 และบริษัทฯ ยังมีแผนจะใช้ศักยภาพที่มีในการพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เช่น โรงนึ่งข้าว โรงปาล์ม ต่อไป