รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า "โครงการ ChAMP เริ่มขึ้นจากรุ่นพี่นิสิตเก่าที่มีความเห็นร่วมกัน อยากจะพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพในอนาคตให้แก่นิสิต นอกเหนือจากวิชาการ โดยโครงการ ChAMP ได้พัฒนาศักยภาพของนิสิตมาแล้วถึง 6 รุ่น และยังคงพัฒนาโครงการฯ ต่อไป เพื่อให้พร้อมสู่โลกของการทำงาน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเมื่อปีที่ผ่านมาโครงการ ChAMP เป็นโครงการเมนเทอร์ชิพโปรแกรมที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจาก AACSB สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก จากสหรัฐอเมริกา ให้เป็นโครงการนวัตกรรมทางการศึกษาที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิผล (Engagement with Business)"
ด้าน ธงชัย บุศราพันธ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน โครงการ ChAMP รุ่นที่ 7 และ ซีอีโอแห่งพีเอ็น แคปปิตอล ลิมิเต็ด เผยว่า "ความสำเร็จของโครงการChAMP ในรุ่นก่อน ทำให้มีนิสิตรุ่นน้องจากคณะอื่นอยากเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้โครงการ ChAMP รุ่น 7 ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเชิญรุ่นพี่นิสิตเก่าจุฬาฯ จากคณะอื่นเข้ามาร่วมเป็นเมนเทอร์เพิ่มขึ้น โดยปีนี้จะมีเมนเทอร์จากคณะอื่น 25% และเมนทีจากคณะอื่น 20% ซึ่งการนำเมนเทอร์และเมนทีจากคณะอื่นมาร่วมในโครงการฯ จะช่วยเสริมให้เมนทีหลากหลายคณะ มีมุมมองและทัศนคติที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
ในปีนี้รุ่น 7 กำลังจะเปิดรับสมัครในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีเมนทีที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 70 คน ในขณะเดียวกันนิสิตเก่ารุ่นพี่ที่จะมาเป็นเมนเทอร์ได้นั้น ต้องเป็นคนดี ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน และต้องมีทักษะในการให้คำแนะนำหรืออธิบายสิ่งต่างๆ ได้ คำแนะนำต่างๆ จะมาจากมุมมองของเมนเทอร์ โดยเมนทีต้องนำกลับไปคิดให้รอบคอบก่อนลงมือทำเสมอ เป็นเหมือนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน เมนเทอร์เองก็ต้องเรียนรู้จากเมนทีเช่นเดียวกัน สิ่งที่เมนทีจะได้รับเมื่อเข้าร่วมโครงการฯ คือ การมีทัศนคติ ความคิด และจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ของรุ่นพี่และรุ่นน้อง ที่อาจดูแลให้คำปรึกษากันไปตลอดชีวิต นี่คือข้อได้เปรียบของนิสิตที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ นี้"
ด้าน วรวัจน์ สุวคนธ์ หนึ่งในเมนเทอร์ในโครงการ ChAMP รุ่นที่ 7 ซึ่งจบการศึกษาจากคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการใหญ่ Dean of SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า "คำถามของเมนเทอร์จะช่วยสะท้อนความคิด เพื่อให้มองเห็นคุณค่าในศักยภาพของเมนที ในฐานะรุ่นพี่ที่เป็นเมนเทอร์จะแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ที่มี แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เชื่อว่าประสบการณ์ในอดีตหลายๆ อย่างยังใช้ได้ ไม่เพียงเมนทีจะตักตวงความรู้ประสบการณ์จากรุ่นพี่ รุ่นพี่เองก็ได้กลับมาทบทวนสิ่งที่เคยรู้มาเช่นเดียวกัน และยังต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากเด็กรุ่นหลังด้วย โครงการฯ นี้ จึงเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนความคิด ทำให้ทั้งเมนเทอร์และเมนทีได้มุมมองที่กว้างขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย"
และ ธนพล ศิริธนชัย หนึ่งในเมนเทอร์โครงการ ChAMP รุ่นที่ 6 ที่จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า "ตอนที่ผมเลือกรุ่นน้อง พิจารณาคนคิดว่า เราช่วยส่งเสริมศักยภาพ ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ต้องการ นิสิตในโครงการ ChAMP จะรู้เป้าหมายหรือมองเห็นปัญหา เพียงสับสนระหว่างทาง เทคนิคที่ผมใช้ตลอด คือ การใช้คำถามเพื่อกระตุ้นความคิด และเป็นนักฟังและรับฟังที่ดี สร้างความไว้วางใจให้เห็นถึงเจตนาดี ที่เราตั้งใจมาช่วย และให้รู้สึกกล้าถาม กล้าพูดถึงปัญหาของตัวเอง"
ปัจจุบันโครงการ ChAMP กำลังจะเปิดรับสมัครรุ่นที่ 7 ในเดือนสิงหาคมนี้ น้องๆ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนใจอยากร่วมโครงการฯ ติดตามทางเฟซบุ๊กแฟนเพจhttps://www.facebook.com/ChAMPChula/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit