1. สถานการณ์การนำเข้า ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก
นายชัยยุทธ คำคุณ ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อมูลจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยนายชัยยุทธฯ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การนำเข้า เศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก
กรมศุลกากรได้ทำกาตรวจสอบและตรวจปล่อย พร้อมจัดทำ List A และList F ดังนี้
ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพิกัดศุลกากรตอนที่ 84 (เครื่องจักร เครื่องกล รวมถึงคอมพิวเตอร์) และ 85 (เครื่องใช้ไฟฟ้า) โดยมีการกำหนดรหัสสถิติเฉพาะเป็น 800 (ของใช้แล้ว) และ 899 (ของตามอนุสัญญาบาเซล) พบว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ในปี 2560 มีปริมาณรวม 52,131 ตัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม 2561 มีปริมาณ 8,634 ตัน มูลค่านำเข้าในปี 2560 และ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม)คือ 2,050 และ 316 ล้านบาทตามลำดับ
ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า (166,802.15 ตัน) และในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 พฤษภาคม 2561 มีปริมาณนำเข้า 313,895.38 ตัน โดยมีสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอยู่ในอารักขาศุลกากร จำนวน 85 ตู้ และสินค้าเศษพลาสติก จำนวน 2,100 ตู้
มีการดำเนินการผลักดันตู้สินค้า โดยใช้มาตรการของตกค้างและแจ้งตัวแทนเรือนำกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมาตรการ RE-EXPORT ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 มีการผลักดันตู้สินค้าไปแล้ว 54 ตู้
(1) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย จำนวน 5 บริษัท
(2) ประกาศท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องระงับการขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้าประเภทสินค้าเศษพลาสติก (Plastic Scrap) เศษอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste) และของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ขอระงับการขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้าประเภท เศษพลาสติก (Plastic Scrap) เศษอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste) และของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
2. แจ้งเตือนกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามที่ในโลกโซเชียลมีเดีย มีการโฆษณาขายสินค้าแบรนด์เนม และแอบอ้างด้วยการนำภาพของผู้บริหารกรมศุลกากร หรือภาพเหตุการณ์การจับกุม นำมาใช้เพื่อการโฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมศุลกากรได้แจ้งเตือนไปหลายครั้ง และได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลการแจ้งเตือนของกรมศุลกากรเป็นอย่างดี แต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ยังพบมีการแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียอีก กรมศุลกากรจึงขอแจ้งเตือนประชาชนอีกครั้งว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วจะสามารถจำหน่ายได้โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้ (1) ขายทอดตลาด (2) ขายคืนเจ้าของ (3) ขายปันส่วน (4) ส่งมอบส่วนราชการ (5) ทำลาย (6) วิธีการอื่นๆ ตามอนุมัติอธิบดี ทั้งนี้ให้ดำเนินไปตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2560 โดยกรมศุลกากรจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการและจะดำเนินการโดยกรมศุลกากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากรเท่านั้น พร้อมทั้งดำเนินการชำระภาษีโดยมีเอกสารหลักฐานการชำระโดยกรมศุลกากรที่ชัดเจนตามกฎหมาย สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นการแอบอ้างหลอกลวงโดยมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียต่อประชาชนและกรมศุลกากร ซึ่งในขณะนี้กรมศุลกากรได้ดำเนินการรวบรวมเพจต่างๆ ที่ปรากฏบนโซเชียลดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป
3. ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมศุลกากร
กรมศุลกากรมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นทางการและสามารถเชื่อถือได้ โดยมีช่องทาง ดังนี้
1. website : https://www.Customs.go.th
2. Facebook : https://www.facebook.com/customsdepartment.thai/
3. Youtube : https://www.youtube.com/theprcustoms
4. Line Official Account :Thaicustoms
สำหรับในวันนี้ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับระบบการยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือน (Pre-Check Personal/Household effects) ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางช่องทางการสื่อสารของกรมศุลกากรดังกล่าวข้างต้น หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ ทางกรมศุลกากร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Customs Call Center 1164 หรือทาง e-mail : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit