กรอ. เดินเครื่องโรงงานทั่วไทยสู่ “สมาร์ทแฟคตอรี่” พร้อมป้อน 5 มาตรการส่งเสริม เติมระบบดิจิทัล – พลังงาน – สิ่งแวดล้อม หนุนความเชื่อมั่นสู่ภาคอุตฯ

23 Jul 2018
- กรอ.เร่งระบบติดตามกากขยะโรงงานทั่วไทย พร้อมหนุน 7,800 โรงงานหันใช้สมาร์ทบอยเลอร์กว่า 1.3 หมื่นเครื่อง คาด 5 ปี ประหยัดกว่า 1 พันล้าน
กรอ. เดินเครื่องโรงงานทั่วไทยสู่ “สมาร์ทแฟคตอรี่” พร้อมป้อน 5 มาตรการส่งเสริม เติมระบบดิจิทัล – พลังงาน – สิ่งแวดล้อม หนุนความเชื่อมั่นสู่ภาคอุตฯ

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งยกระดับโรงงานไทยให้ก้าวสู่ Smart Factory โดยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561-2562 ได้จัดมาตรการส่งเสริม 5 ด้าน ได้แก่ 1.การลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ 2. การผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนเพื่อขยายการลงทุน 3.การสนับสนุนระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ 4.การส่งเสริมการจัดการด้านพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม 5.การจัดทำระบบกำกับดูแล ติดตาม และควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่สมาร์ท แฟคตอรี่ได้ กว่า 1,000 โรงงาน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อยกระดับการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติเป็น Smart Factory มากขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2561-2562 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เตรียมแผนส่งเสริมสถานประกอบการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่

  • ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาผ่านระบบออนไลน์ โดยจะมุ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในการลดขั้นตอนการพิจารณา-อนุมัติ กระบวนการขออนุญาต การต่ออายุ หรือแม้กระทั่งการขยายโรงงาน ที่แต่เดิมกระบวนการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน ทั้งนี้ กรอ.จะนำระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาช่วยควบคุมทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่น และการเข้าถึงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของ กรอ.ในแบบเรียลไทม์ รวมถึงลดข้อผิดพลาดในงานเอกสารที่อาจเกิดขึ้น โดยในเบื้องต้น ได้ตั้งเป้าให้การดำเนินการต่างๆ เหลือระยะเวลาในการจัดการเพียง 3 – 10 วัน
  • ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนเพื่อขยายการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะให้การส่งเสริม อาทิ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การยกเว้นภาษีหรือออกสิทธิพิเศษเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน การร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดทำมาตรการรองรับด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เช่น การกำจัดแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วในกลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต การกำหนดมาตรฐานสถานประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น การผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น
  • ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางข้อมูล (Big Data) เพื่อกำกับดูแลกระบวนการกำจัดของเสียจากโรงงานให้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ กรอ.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำฐานข้อมูลการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมให้เป็นระบบเดียวกัน พร้อมกับพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อติดตามดูแลการกำจัดขยะอุตสาหกรรมในโรงงานทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือ Auto E-license โดยมั่นใจว่าจะช่วยให้กระบวนการทำงานด้านดังกล่าวมีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ กรอ.ยังจะเร่งทบทวนกฎหมาย หรือกฎระเบียบบางประการที่ยังเป็นช่องโหว่ และอุปสรรคของการรีไซเคิลหรือกำจัดขยะอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ภาคสังคม ชุมชน และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีความเชื่อมั่นมากขึ้น
  • เสริมการจัดการด้านพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพประหยัดพลังงาน ภายในปี 2561-2565 กรอ.จึงมุ่งที่จะยกระดับโรงงานให้มีการใช้ระบบ Smart Boiler หรือหม้อน้ำอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้ได้กว่า 13,000 เครื่องหรือประมาณ 7,840 โรงงาน ซึ่งการสนับสนุนด้านดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในภาพรวมได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิงทำให้ลดการปลดปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยดีขึ้น
  • ระบบ Monitoring ครบวงจร กรอ.ได้จัดทำระบบการกำกับดูแล ติดตาม และควบคุมคุณภาพอากาศ น้ำ ดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกินค่ามาตรฐานจากการประกอบกิจการ โดยมีตัวอย่างเช่น ระบบ BOD Online ที่จะคอยเตือนระดับค่าน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติ ระบบ CEMs หรือ ระบบการการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายความร้อน ฯลฯ โดยระบบเหล่านี้จะทำการตรวจสอบ ประมวลผล และรายงานผลแบบเรียลไทม์ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการรายงานตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะพัฒนาให้การทำงานของระบบให้ครบวงจร มีประสิทธิภาพการส่งข้อมูล การรายงานและการติดตามให้ดียิ่งขึ้น

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเร่งดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมก้าวสู่สมาร์ท แฟคตอรี่ อย่างเต็มรูปแบบผ่าน 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry 2. โครงการนำร่องการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำ 3. อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industry Town 4. โครงการขับเคลื่อน Factory 4.0 5. โครงการพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 6. โครงการสร้างองค์ความรู้และแนวทางการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิตอลแก่โรงงานอุตสาหกรรม 7. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี กรอ.คาดว่าจะยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่ความเป็น Smart Factory ได้กว่า 1,000 โรงงาน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงข้อมูลต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 0 2202-4082 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(