พระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อสร้างพระตำหนัก พระองค์ทรงรับไว้แต่ไม่ได้สร้างเป็นพระตำหนัก และด้วยทรงเห็นว่าผืนดินบริเวณนั้นเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงทรงพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแทน เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในพื้นที่ เพราะในแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัด สภาพอากาศ วิถีชีวิตของประชาชนที่แตกต่างกัน ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นการสาธิตการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ หมายถึง ประชาชนในพื้นที่นั้นต้องหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง มีวิทยาการสมัยใหม่ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหน่วยงานด้านการเกษตร ด้านสังคม ด้านการส่งเสริมการศึกษา มาคอยให้บริการด้านความรู้ คำแนะนำต่างๆ แก่ประชาชน โดยประชาชนสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์ฯ ได้ตลอดเวลา
นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง หนึ่งในหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากการเยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ณ กลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านหนองปรือ หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันก่อนว่า เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เพื่อดำเนินการขยายผลด้านการเกษตร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ โดยได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ณ บ้านหนองปรือ หมู่ที่ 14 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
และในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ขึ้น เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมพัฒนาด้านการเกษตร ในชื่อกลุ่ม "เกษตรผสมผสานบ้านหนองปรือ" มีสมาชิก 20 ราย มีทุนดำเนินงาน เริ่มต้น 8,100 บาท โดยมีนางสุนันท์ ผาวันดี ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 26 ราย มีเงินกองทุนรวม 319,385 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานในโครงการประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับ
สำหรับกองทุนที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มนั้นมาจากแหล่งต่างๆ หลายแหล่งด้วยกัน เช่น การระดมหุ้นจากสมาชิก จากปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง แล้วนำมาต่อยอด รวมถึงจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดอกผลจากเงินที่สมาชิกได้กู้ยืมซึ่งได้นำเข้ามาสบทบในกองทุนร้อยละ 50 ของดอกผลทั้งหมด
โดยกลุ่มที่ตั้งขึ้นมานี้ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้ ตามเป้าหมายในการขยายผลของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีกิจกรรมการปลูกพืชหลัก ได้แก่ ไม้ผล การทำนา การปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่เหมาะสม การปลูกพืชผักสวนครัว ยังผลให้เกษตรกรมีรายได้แบบรายวัน รายเดือน และรายปี มีรายได้เสริม สมาชิกในกลุ่มฯ มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
"นับเป็นสิ่งที่ดีที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ในการดำเนินการขยายผลโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกษตรกรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
การทำไร่นาสวนผสมตามหลักเกษตรทฤษฏีใหม่ พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ยังผลให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิต มีรายได้ต่อเนื่อง ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตามลำดับ สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นการสืบสานพระราชปณิธานในงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 นับเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรต่างๆ ได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านสืบไป" นายชาตรี บุญนาค กล่าว
ทางด้าน นางสุนันท์ ผาวันดี ผู้ใหญ่บ้านหนองปรือ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานกลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านหนองปรือ เล่าให้ฟังว่า บ้านหนองปรือมีประชากรทั้งหมด 142 ครัวเรือน 596 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าว พืชไร่ บางส่วนปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก และปลูกพืชผักสวนครัวเป็นอาชีพเสริม การรวมกลุ่มเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของสมาชิกจึงมีความเข้มแข็ง สามัคคีและสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มมีกิจกรรมที่สร้างอาชีพเสริมได้หลากหลาย ดังเช่น แปลงเกษตรรวมในพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน เป็นกิจกรรมด้านการเกษตรที่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่กลุ่ม เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว มาทำเป็นแปลงเกษตรรวม โดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลผลผลิตทุกขั้นตอน ไปจนถึงการนำผลผลิตส่วนหนึ่งออกจำหน่วยเพื่อเป็นรายได้ของกลุ่ม และผลผลิตอีกส่วนจะแจกจ่ายให้กับสมาชิกเพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมด้านเคหกิจเกษตร ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับใช้ในครัวเรือนจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่ประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
"กลุ่มฯ ได้มีการแปรรูปผลผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น การทำถั่วลิสงเคลือบโอวัลติน การทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่สมุนไพร ยาหม่อง พิมเสนน้ำ ซึ่งผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายให้กับสมาชิกและประชาชนทั่วไป และรายได้ก็นำเข้ากลุ่มสำหรับเป็นทุนเพื่อการดำเนินการผลิตต่อไป ส่วนหนึ่งก็แบ่งปันให้สมาชิกกลุ่มฯ ที่เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นรายได้เสริมที่ค่อนข้างมั่นคงในปัจจุบัน" นางสุนันท์ ผาวันดี กล่าว