บทเรียนของคนพังงาสู่สาธารณชน “พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้”

19 Jul 2018
โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2557 – 2560 ผลการจัดอันดับจังหวัดแห่งความสุขของประเทศไทยพบว่า พังงาเป็นจังหวัดที่มีความสุขเป็นอันดับสองของประเทศ โดย "พังงาแห่งความสุข" ไม่ได้มาจากเพียงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังมาจาก "ความสุขของคุณภาพชีวิตที่ค่อย ๆ ถูกพัฒนาขึ้นจนคนในจังหวัดสามารถสัมผัสได้อย่างทั่วถึง" ซึ่งความสุขเหล่านี้เกิดขึ้นจากเบื้องหลังการทำงานฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันของคนในพื้นที่ทุกภาคส่วน จนก้าวผ่านปัญหาที่ต้องเผชิญ ทั้งการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระบบสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง รวมถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการต่อรองเชิงเศรษฐกิจดังที่ควรจะเป็น
บทเรียนของคนพังงาสู่สาธารณชน “พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้”

ด้วยประสบการณ์การเดินทางต่อสู้ของกลุ่มคนพังงา มีบทเรียนที่คนทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้โดยเฉพาะ "การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับฐานราก มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีศักดิ์ศรี" ศ.นพ.ประเวศ วะสี และคุณประชา หุตานุวัตร จึงเล็งเห็นว่าควรที่จะมีการตีแผ่แนวคิดและกระบวนการทำงานออกสู่สาธารณชน จึงเกิดเป็นหนังสือถอดบทเรียน "พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้" ซึ่งมีการจัดทำโดยโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้มีการจัดงานแถลงข่าวขึ้นที่คณะเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจังหวัดสู่ยุทธศาสตร์พังงาแห่งความสุขได้มาร่วมเสวนาและมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

คุณไมตรี จงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข ได้ถอดบทเรียนการทำงานของตนและคนพังงาว่า "การทำงานเพื่อสังคมของคนพังงา เริ่มจากการทำงานให้ตอบโจทย์ชี้วัดผลสำเร็จของผู้สนับสนุนงบประมาณที่ผลักดันการขับเคลื่อนสังคมในทิศทางขององค์กร ทั้งจากมูลนิธิชุมชนไท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. รวมถึงหน่วยงานที่มีพระคุณอีกมากมาย จนมาพบจุดหักเหแนวคิดที่เปลี่ยนการทำงานของคนพังงาครั้งใหญ่ คือ คำพูดชวนคิด 'เป้าหมายควรจะเป็นของเรา...ไม่ใช่ของใครอื่น' โดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2556 ทำให้คนพังงาทุกคนต้องตอบคำถามอย่างแท้จริงว่า 'พังงาแห่งความสุขคืออะไร' ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่นโยบายระดับจังหวัด เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปเพื่อความสุขของคนในจังหวัดอย่างแท้จริง...เราทุกคนช่วยกันสร้างกว่า 100 รูปธรรมแห่งความสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดพังงา"

คุณปรีดา คงแป้น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชุมชนไท หนึ่งในผู้ผลักดันหลักให้คุณไมตรีก้าวสู่การทำงานเพื่อสังคม ได้สะท้อนสองปัจจัยความสำเร็จของคนพังงาว่า "ปัจจัยที่หนึ่ง คือ การพยายามบ่มเพาะตนเองและทีมงานให้เกิดความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ และมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาระดับจังหวัด และพัฒนาให้ไปถึงระดับโครงสร้างโดยตลอด ปัจจัยที่สอง คือ การมีภาวะการเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) ของคนทำงานทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ในการทำงานขับเคลื่อนเพื่อความสุขของทุกคนในจังหวัดไปด้วยกัน"

คุณธีรพล สุวรรณรุ่งเรื่อง พอช. ได้เน้นย้ำสิ่งที่คุณปรีดาสะท้อนว่า "จุดแข็งสำคัญของที่นี่ คือ การที่คนพังงาไม่ได้มีฐานคนทำงานเพียง 10 หรือ 20 คน แต่เป็นการผนึกกำลังการทำงานของคนหมู่มากที่รวมตัวกันเพื่อจะพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างยั่งยืน"

นอกจากการเสวนาโดยผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจังหวัดพังงาสู่ยุทธศาสตร์พังงาแห่งความสุขแล้ว ศ.นพ.ประเวศ วะสี ยังให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ โดยได้ถอดบทเรียนการทำงานของ "พังงาแห่งความสุข" และ "การช่วย 13 ชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำหลวง" ซึ่งเหตุการณ์พึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนว่ามีปัจจัยความสำเร็จเหมือนกัน 8 ข้อ ดังนี้ 1) การแก้ไขปัญหาดำเนินการหลักโดยคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้เผชิญและมีความเข้าใจต่อปัญหา 2) ร่วมมือเป็นหนึ่งเพื่อเป้าหมายเดียวกัน 3) ไม่มีการแบ่งแยกในการทำงาน ไม่ว่าจะด้วยองค์กร อาชีพ หรือเชื้อชาติ 4) เกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง (Interactive learning and action) ทำให้เกิดปัญญาร่วมและอัจฉริยภาพกลุ่ม 5) มีการแสวงหาผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีได้เหมาะสมกับปัญหา 6) ผู้ประสานงานและดำเนินการในพื้นที่มองเห็นปัญหาแบบภาพรวม และสามารถสื่อสารเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย 7) อ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องผู้อื่น ทำงานเพื่อส่วนรวม 8) มีการสื่อสารสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกำกับทิศทางการทำงานให้อยู่บนความถูกต้อง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทเรียนการทำงานของ "พังงาแห่งความสุข" ที่ทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปีเท่านั้น ภายในหนังสือยังมีประสบการณ์การล้มลุกคลุกคลาน จุดแข็ง จุดอ่อน หรือแนวทางในการทำงานของชุมชน ที่จะทำให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ทำพลาดซ้ำ บทเรียนการทำงานของพังงาไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือตัวอย่างที่สมบูรณ์แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีศึกษาให้ผู้ที่ทำงานทางด้านนี้ ได้เรียนรู้และทบทวนการทำงานเพื่อสังคมไปด้วยกัน โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ "พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้" ได้ทางช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์โครงการผู้นำแห่งอนาคต

บทเรียนของคนพังงาสู่สาธารณชน “พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้” บทเรียนของคนพังงาสู่สาธารณชน “พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้” บทเรียนของคนพังงาสู่สาธารณชน “พังงาแห่งความสุข...สุขที่คุณสัมผัสได้”