กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์กับสหกรณ์ออมทรัพย์ หวังขยายช่องทางตลาดสินค้าสหกรณ์สู่ผู้บริโภคได้ทั่วถึง

19 Jul 2018
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสู่การพัฒนาตลาดสินค้าสหกรณ์ รวมทั้งกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ เปิดเวทีให้สหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคได้พบกับตัวแทนสหกรณ์ภาคออมทรัพย์ หวังขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้าสหกรณ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจให้กับเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์กับสหกรณ์ออมทรัพย์ หวังขยายช่องทางตลาดสินค้าสหกรณ์สู่ผู้บริโภคได้ทั่วถึง

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสู่การพัฒนาตลาดสินค้าสหกรณ์ โดยเชิญผู้แทนสหกรณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ สหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยและสหกรณ์เครือข่าย เข้าร่วมประชุม 220 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างสหกรณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ สหกรณ์ผู้ผลิตสินค้า และสหกรณ์ที่เป็นเครือข่ายในการกระจายสินค้าสหกรณ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจให้กับเครือข่าย ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจระหว่างสหกรณ์ที่ผลิตสินค้ากับสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อขยายช่องทางตลาดสินค้าสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยนำนโยบายการตลาดนำการผลิต ร่วมขาย ร่วมผลิต ร่วมกันคิดแบบเครือข่ายสหกรณ์ มาใช้เป็นนวทางในการพัฒนาตลาดสินค้าสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายที่จะต่อยอดธุรกิจให้กับศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ หรือที่รู้จักกันในนาม CDC ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรและร้านสหกรณ์ ซึ่งกรมฯ ได้ใช้เวลาในการสร้างและพัฒนามากว่า 7 ปี จนถึงปัจจุบัน มีศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ตั้งอยู่ทั่วประเทศจำนวน 122 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรซึ่งดำเนินธุรกิจ ทั้งผลิต แปรรูป และกระจายสินค้าภายในเครือข่าย CDC ด้วยกันเอง เพื่อส่งต่อและกระจายไปสู่ผู้บริโภค และสหกรณ์ร้านค้า ที่จำหน่ายสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค แต่สิ่งที่กรมฯอยากจะต่อยอดเพื่อขยายผลจากรูปแบบธุรกิจของเดิม คือ เชิญชวนสหกรณ์ภาคออมทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมในเป็นช่องทางตลาดให้กับศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ยังมีกลุ่มผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ต้องการอุดหนุนสินค้าของสหกรณ์ แต่ยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยหรือหาแนวทางที่จะร่วมมือกัน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้อาจยังไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขาย แต่นับว่าเป็นโอกาสดีที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นการเปิดตลาดสินค้าสหกรณ์ ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตกับสหกรณ์ที่เป็นฝั่งผู้บริโภค ที่จะมาร่วมกันซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ซึ่งสินค้าของสหกรณ์เหล่านี้สามารถนำไปจำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์ของตัวเองได้ นำไปเป็นสวัสดิการของสมาชิกได้อีกด้วย และยังมีสินค้าของสหกรณ์อีกหลายตัวที่เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม เป็นสินค้าออกสู่ตลาดภายนอก ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในการเจรจาธุรกิจระหว่างเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์และเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์ สินค้าที่จะจำหน่ายระหว่างกันมีทั้ง ข้าวสาร กาแฟ นมพร้อมดื่ม ผัก ผลไม้ สมุนไพร หมอนยางพารา และสินค้าแปรรูปต่างๆ ซึ่งผลการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ ได้กำหนดทิศทางในการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์กับเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยสหกรณ์ในเครือข่ายชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ในเขตกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1) และเครือข่ายธุรกรรมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 จำนวน 45 แห่ง เข้าร่วมในการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิต และสหกรณ์ที่มีศักยภาพทางการตลาด โดยได้วางแผนการผลิตและการตลาดด้วยการนำหลักการคิด "การตลาดนำการผลิต" และให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย เป็นแกนนำหลักในการรวบรวมสินค้าคุณภาพกับจากเครือข่าย CDC เพื่อนำมากระจายสู่สหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีพัฒนาต่อยอดสินค้าสหกรณ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า เพิ่ม QR Code มีข้อมูลสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าสหกรณ์เป็นข้อมูลที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าของสหกรณ์ และจากนี้จะมีการจัดงานสหกรณ์ผู้ผลิตพบผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมช่องทางจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Co-op Click Cooperative Online Product Marketing, Line เป็นต้น ซึ่งการขยายช่องทางการติดต่อ และการสั่งซื้อสินค้าจากสหกรณ์ต่าง ๆ ด้วย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(