จุดเริ่มต้น ผศ. ปริญญา ชูแก้ว หรือ อาจารย์แป่ง ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของย่านชุมชนเก่าและอาคารสถานีรถไฟในประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในหลายลักษณะให้กับประชาชน นักวิชาการ ภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีฐานข้อมูลอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ในโครงการต่าง ๆ นั้น พร้อมทั้งยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับกรมศิลปากรในการพิจารณาขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เจ้าของอาคารใช้เป็นข้อมูลในการปกป้องรักษาอาคารของตนจากการถูกทำลายจากโครงการพัฒนาในอนาคต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนปรับปรุงย่านประวัติศาสตร์และจัดทำแนวทางการพัฒนาอาคารหรือการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นพิเศษเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย
โดยการดำเนินการหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของอาคารที่มีคุณค่าร่วมกันก็จะนำมาซึ่งการหาหนทางในการอนุรักษ์และพัฒนาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผศ. ปริญญา ชูแก้ว จึงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมผ่านกระบวนการเขียนแบบ VERNADOC (Vernacular Documentation) ครั้งแรกในพุทธศักราช 2553 จากการชักชวนของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว โดยทำหน้าที่ผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับมรดกประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมรถไฟไทยแก่อาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ASA VERNADOC 2010 สถานีรถไฟนครลำปาง แม่ทะ และบ้านปิน หลังจากนั้น ผู้เขียนก็เข้าร่วมกิจกรรม ASA VERNADOC อีกหลายครั้งทั้งในฐานะผู้ร่วมจัดค่าย และผู้สังเกตการณ์ จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2557 ผู้เขียน และอาจารย์ณธทัย จันเสน ได้ร่วมกันจัดค่าย KMITL ASA VERNADOC เป็นครั้งแรก ณ อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวก อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ต่อด้วยบ้านสี่แยกหัวตะเข้ (กรกฎาคม 2557) สถานีรถไฟสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา (กรกฎาคม 2558) ชุมชนตลาดเก่าลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี (ธันวาคม 2558) ชุมชนตลาดบน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร (ธันวาคม 2559) และสถานีรถไฟสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย (ธันวาคม 2560) โดยผู้เข้าร่วมค่าย KMITL ASA VERNADOC เป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถือเป็นการร่วมมือกันที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ในการร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมในพื้นที่อย่างมาก
สำหรับการทำค่ายในแต่ละครั้งนั้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและความช่วยเหลือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานในสถานที่จริง เกิดเป็นมิตรภาพ ความทรงจำที่ดีระหว่างพวกเขาและชุมชน
นอกจากนี้ ผศ. ปริญญา ชูแก้ว ยังได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ และช่วยกันหาทางอนุรักษ์อาคาร ย่านชุมชนเก่า และมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เน้นกระบวนการทำงานร่วมกันในการจัดทำแผนอนุรักษ์ งบประมาณในการดำเนินการ และบุคลากรผู้รับผิดชอบ ทำให้ในเวลาต่อมาเกิดการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารที่หยุดรถไฟแม่พวก และบ้านสี่แยกหัวตะเข้อย่างจริงจังจนได้รับ รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำพุทธศักราช 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดการระดมทุนผ่านการทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานีรถไฟสูงเนิน มีการพูดคุยระหว่างรัฐ ประชาชน และนักวิชาการเพื่อหาทางอนุรักษ์ชุมชนตลาดเก่าลาดหญ้า ชุมชนตลาดบน และอาคารสถานีรถไฟสวรรคโลก ด้วยเทคนิคและวิธีการที่เหมาะสม อีกด้วย
นี่คือสิ่งที่สะท้อนรากเหง้า กระตุ้นความเป็นชุมชนมีส่วนร่วม ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึงสามารถเผยแพร่และอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
และเร็วๆ นี้ ในวันเสาร์ที่ 18 – วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ทางชุมชนสวรรคโลก จะมีการจัดโครงการนิทรรศการ "รักษ์สวรรคโลก" โดยทั้งนี้จะมีผลงาน VERNADOC และงานภาพวาด จากฝีมือนักศึกษาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ณ อาคารที่ว่าการสวรรคโลก (หลังเก่า) และในปลายปีนี้ ผศ. ปริญญา ชูแก้ว จะมีหนังสือ KMITL ASA VERNADOC การอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยภาคประชาชน มาให้ได้ชมกันแน่นอน สำหรับใครที่อยากติดตามผลงานและเรื่องราวของ ผศ. ปริญญา ชูแก้ว สามารถติดตามได้ทาง www.facebook.com/parinya.chukaew
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit