เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว "เจนี้ ลดเค็ม ได้บุญ ได้สุขภาพ" โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2561 พบว่า กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะกินเจ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจมาจากการซื้อจากร้านอาหารเพื่อความสะดวก โดยการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเจจะพิจารณาจากรสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารเป็นอันดับแรก
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มจึงทำการสุ่มตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนนสายเศรษฐกิจ 3 แหล่งในกทม. ได้แก่ เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ผัดผัก ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบว่าทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ โดยในแต่ละมื้อไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม ซึ่งเมนูที่มีโซเดียมสูงสุดคือ พะโล้ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,092.44 มิลลิกรัม/ 200 กรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ควรบริโภคต่อมื้อเกือบ 2 เท่า ตามด้วยอันดับ 2 ต้มจับฉ่าย (1,055.11 มิลลิกรัม/200 กรัม) และอันดับ 3 ขนมจีนน้ำยากะทิ (1,037.33 มิลลิกรัม/200 กรัม) นอกจากนี้ยังพบอาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี้ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด
"ปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยพบว่าปริมาณโซเดียมที่คนไทยกินเฉลี่ย 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ในแต่ละปีจึงมีผู้ป่วยถึง 2 ล้านคน ที่เกิดจากพฤติกรรมกินเค็ม เครือข่ายลดบริโภคเค็มและสสส.จึงอยากชวนคนไทยในช่วงเทศกาลกินเจนอกจากถือศีลละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว อยากชวนให้ร่างกายได้พักไตด้วยการลดเค็มในเมนูเจ ซึ่งมี 3 วิธีในการกินเจให้ได้สุขภาพดีคือ 1. เลือกทานผักสด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าโดยต้องล้างผักให้สะอาด 2. ลดเค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูปหรือการทานน้ำซุปเพราะมีเกลือสูง 3. หลีกเลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง หลายคนกินเจแล้วน้ำหนักเพิ่ม เพราะในเมนูเจมีแป้งสูง จึงควรชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้ หรือธัญพืชซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการเติมแป้ง ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง" ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ในงานแถลงข่าว นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ประธานสถานศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ได้สาธิตการทำอาหารเจ อร่อยได้ ไม่ต้องเค็ม ในเมนู "หูฉลามเจ" พร้อมกับข้อแนะนำการปรุงอาหารเจให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit