ที่ ชุมชนบ้านโหล๊ะหนุน ตำบลอ่างทอง อำศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรรม ทำนา สวนยางพารา และสวนผลไม้ ที่ปลูกผักไว้กินเองมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ของกินของใช้ซื้อมาจากตลาดทั่วไป และยังขาดการออกกำลังกาย เพราะเห็นว่าทำงานในไร่นาก็เหนื่อยมากพอแล้ว ทำให้ปัจจุบันสมาชิกชุมชนบางส่วนประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นว่าหากปล่อยให้
สถานการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไปจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการ "ชุมชนน่าอยู่" โดยการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากปากคำของ ถาวร เรืองแก้ว กำนันตำบลอ่างทอง ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน เล่าว่าปัญหาสุขภาพเริ่มรุกมายังชุมชนเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคไม่แตกต่างจากคนในเมือง การทำเกษตรแบบใช้สารเคมีเสี่ยงต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม ที่ประชุมหมู่บ้านมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าเริ่มต้นของการทำชุมชนให้น่าอยู่ทำในสิ่งที่ง่ายๆใกล้ตัวก่อน คือการออกกำลังกายควบคู่กับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนตัวแทนจากหลายฝ่ายเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการปรับเปลี่ยนสมาชิกในชุมชนให้สนใจรักษาสุขภาพ
"เราได้ความร่วมมือในเป็นอย่างดี เห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพของลูกบ้าน เฉพาะหมู่ 4 ที่เข้าร่วมโครงการชัดเจนมาก ผมวางเป้าหมายไว้ว่าต่อไปต้องเปลี่ยนพฤตกรรมทั้งตำบล ผมบอกพี่น้องไปว่างบประมาณที่ได้รับมาจะไม่เห็นเป็นสิ่งของทั้งสิ้น แต่จะเห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้ความสามัคคี ความร่วมมือ การร่วมออกกำลังกายเพื่อลดอ้วนลดโรค และจะมีโครงการสุขภาวะอื่นๆตามมาซึ่งชาวบ้านเข้าใจดีและผมก็จะเอาข้อจำกัดในสมัยที่เป็นผู้ใหญ่บ้านมาแก้ไขปรับปรุงด้วย" กำนันถาวร กล่าว
ด้าน ญาราภรณ์ รักสกุล หนึ่งในแกนนำหมู่บ้าน ให้ข้อมูลว่าบ้านโหล๊ะหนุน หมู่ 4 มีประชากรวัยทำงาน 300 กว่าคน จากการตรวจสอบข้อมูลจากโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบลอ่างทอง พบว่ามีคนอ้วนมากขึ้น เมื่อวัดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน 194 คน ถือว่าเป็นปัญหา จึงหยิบยกประเด็นการลดความอ้วน เพื่อไม่ให้เกิดโรคที่จะตามมา จึงวัดค่าต่างๆในร่างกายอย่างละเอียด หาวิธีแก้ไขเรื่องโภชนาการ อาหารที่ควรรับประทานควบคู่กับการออกกำลังกาย แนะนำให้ลดอาหารที่ใช้การทอด เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม ลดอาหารที่ปรุงใส่กะทิ และลดการอุ่นอาหาร เพราะพบว่าการอุ่นอาหารที่เหลือจะทำให้มีไขมันเพิ่มขึ้น ส่วนการออกกำลังกายปกติก็เป็นคนออกกำลังกับพี่สาวอยู่แล้ว จึงแสวงหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมและสามารถทำได้กับทุกคน จนพบว่าการเต้นจังหวะ "บาสโลบ" หรือ "บั๊ดสลบ" ที่นิยมในประเทศลาว สามารถนำมาปรับเป็นการเต้นออกกกำลังกายที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างดี
"ตอนแรกก็หัดเต้นกับพี่สาวสองคน ต่อมาก็ชักชวนสมาชิกมาร่วมเต้น 45 นาที ทุกเย็น จนทำให้สมาชิกหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงเห็นหมู่ 4 เต้นก็มาร่วมออกกำลังกายด้วย หลังจากมีการออกกำลังกาย เรามีการตรวจค่า BMI ไป 3 ครั้ง พบว่าบางคนน้ำหนักลดลง บางคนยังไม่ลดแต่ร่างกายกระชับคล่องตัว เคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ไปกรีดยางกลับมากินข้าว ดูทีวี นอนน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่เดี๋ยวนี้แข็งแรงขึ้น การเต้นบาสโลบผู้สูงอายุก็เต้นได้ การแต่งกายก็ง่ายๆ ใส่ผ้าถุงก็เต้นได้ ตอนนี้ตัวแทนหมู่ 4 ได้ไปสอนที่เทศบาลให้เต้นด้วย ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่สนุก สร้างความสุขให้แก่ผู้ออกกำลังกาย" แกนนำหมู่บ้านระบุขณะที่ กฤตพร แก้วปราง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดแผนไทย กล่าวว่าได้ชักชวนคนในหมู่บ้านให้มาร่วมกิจกรรมเต้นบาสโลบ เพื่อสร้างความแข็งแรง ลดน้ำหนัก ลดการไปหาหมอ ไม่เปลืองเวลาและไม่เปลืองเงินที่ต้องจ่ายค่ารักษาโรค และเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดความสามัคคี ได้ความสนุก ได้ประโยชน์ ได้ในเรื่องสุขภาพ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ด้านสุขภาพทั้งอาหารการกิน และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
"ผู้ชายอาจจะไม่ค่อยมีใครมาเต้นบาสโลบ แต่ผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่จะมาเกือบหมด ผู้ชายเขาก็มีกีฬาอื่นให้เล่น เช่น ตระกร้อ ฟุตบอล ปั่นจักรยาน หรือการวิ่ง เป็นการออกกำลังกายตามความชอบของแต่ละคน แต่ผู้หญิงมากันเยอะ ฝนตกก็เต้นในที่มีหลังคาได้ ไม่มีปัญหาเรื่องฝนเลย" กฤตพร กล่าว
กิจกรรมออกกำลังกายด้วยการเต้นบาสโลบจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการให้เกิดความ
ตื่นตัวและความสนใจในเรื่องสุขภาพของสมาชิกในชุมชนบ้านโหล๊ะหนุน สิ่งสำคัญก็คือได้ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดเป็นพลังความร่วมมือ ซึ่งเป็นการปูทางที่จะต่อยอดโครงการเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะอื่นๆต่อไป เพื่อทำให้บ้านโหล๊ะหนุนเป็นชุมชนน่าอยู่ผู้คนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit