รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.คัดเลือกละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่เผยแพร่ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เพื่อประกาศเป็นสุดยอดละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกสุดยอดละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย ศิลปินแห่งชาติ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการละครโทรทัศน์ ผู้กำกับการแสดง ดารา สมาคม ชมรม องค์กรสื่อ สถาบันการศึกษา องค์กรรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและพิจารณาคัดเลือก
กระบวนการพิจารณาคัดเลือกแบ่งเป็น 3 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 เชิญชวนประชาชน องค์การสื่อ สถาบันการศึกษา สมาคม ชมรม ให้มีส่วนร่วมในการเสนอรายชื่อโดยไม่จำกัดจำนวนเรื่อง ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งหมด 59,796 คน และหน่วยงานต่างๆ นำเสนอมา ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ โปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ และมหาวิทยาลัย รวม 206 หน่วยงาน เสนอละครโทรทัศน์ไทยรวมทั้งหมด 2,649 เรื่อง รอบที่ 2 เชิญผู้ที่อยู่ในวงการละครโทรทัศน์ไทย วงการภาพยนตร์ วงการการศึกษาทั้งภาคสังคมและภาคสื่อสารมวลชน ผู้วิจารณ์และผู้สื่อข่าว รวม 180 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาเสนอรายชื่อละครโทรทัศน์ไทยที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยและการศึกษา โดยผลการพิจารณาเสนอละครโทรทัศน์ไทย ทั้งหมด ๒,๓๒๘ เรื่อง และรอบที่ 3 พิจารณาคัดเลือกโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกสุดยอดละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 และเสนอคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย รับทราบผลการคัดเลือก
นายวีระ กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการคัดเลือกสุดยอดละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 จำนวน 99 เรื่อง อาทิ ทองเนื้อเก้า, สี่แผ่นดิน, คู่กรรม, สายโลหิต,หุ่นไล่กา, ลอดลายมังกร, อยู่กับก๋ง, ธรณีนี่นี้ใครครอง, บ้านทรายทอง, ตี๋ใหญ่, ขุนศึก, คำพิพากษา, สุดแต่ใจจะไขว่คว้า, ผู้ชนะสิบทิศ, พิภพมัจจุราช, ระนาดเอก, คือหัตถาครองพิภพ, บัลลังก์เมฆ, ไผ่แดง, น้ำพุ, สุดแค้นแสนรัก, ปริศนา, ขมิ้นกับปูน, แผลเก่า, มนต์รักลูกทุ่ง, ดาวพระศุกร์, เทวดาตกสวรรค์, แต่ปางก่อน, ทวิภพ, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, ห้องหุ่น, ลูกทาส, แม่นาคพระโขนง, ชาติมังกร, หงส์เหนือมังกร, วนิดา, ผู้กองยอดรัก, ข้ามสีทันดร, แม่อายสะอื้น, จำเลยรัก, อีสา-รวีช่วงโชติ, พันท้ายนรสิงห์ และ ข้าบดินทร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ละครโทรทัศน์ไทยถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยทั้งด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ขึ้นตลอดระยะเวลา 70 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวิชาการละคร ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสื่อในการศึกษาเรียนรู้ให้แก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับ 99 สุดยอดละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 จะนำไปจัดนิทรรศการในงานสุดยอดศิลปะไทย ในรัชกาลที่ 9 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2561 ระหว่างวันที่ 12 – 21 ตุลาคม 2561 ณHall of Fame ชั้น M สยามพารากอน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการสุดยอดศิลปะไทย ในรัชกาลที่ 9 จำนวน 3 สาขา ได้แก่ 70 สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 99 สุดยอดละครโทรทัศน์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 และ 398 สุดยอดเพลงไทยในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 และเปิดให้ประชาชนชม 10 สุดยอดภาพยนตร์ฟรี ณ โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีแพล็กซ์ ชั้น 5 สยามพารากอนด้วย