1) ธ.ก.ส.จะดำเนินการแจ้งสาขาทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ และเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31ธันวาคม 2560 ที่ได้รับสิทธิ จำนวน 36,605 ราย มาแสดงตนเพื่อแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
2) ธ.ก.ส.จะให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท มาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยให้นำหนี้เงินต้นที่ยังค้างชำระมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ๆ ละเท่า ๆ กัน (50/50) แล้วนำหนี้ส่วนแรก (50) มาทำสัญญาใหม่ เพื่อให้โอกาสเกษตรกรมาผ่อนชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 ปี โดย ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ และกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบกลั่นกรองคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
3) ในระหว่างการผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับ ธ.ก.ส. กองทุนฟื้นฟูฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนพัฒนาอาชีพ ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ตามความถนัดของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีผลตอบแทนที่สามารถนำมาชำระหนี้ตามสัญญาใหม่และมีเงินเหลือเพื่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะประสานงานภาคเอกชนมารับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ หรือหาตลาดรองรับผลผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย
และ 4) สำหรับหนี้เงินต้นส่วนหลังที่ค้างชำระอีกจำนวน 50 ส่วนและดอกเบี้ยนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หารือร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อออกระเบียบในการดำเนินการให้เกิด ความเป็นธรรมกับเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความหนักเบาของสภาพปัญหาของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งจะได้มีการตกลงระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับ ธ.ก.ส.เจ้าหนี้เป็นราย ๆ ไป เช่น หากเกษตรกรลูกหนี้เสียชีวิตโดยไม่มีทายาทมารับสภาพหนี้หรือเกษตรกรลูกหนี้เป็นผู้ป่วยทุพพลภาพหรือสูงอายุ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้และไม่มีรายได้ ธ.ก.ส.ก็อาจพิจารณาจำหน่ายหนี้รายดังกล่าวออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาตามระเบียบของธ.ก.ส.ต่อไป สำหรับดอกเบี้ยเดิมส่วนที่ค้างไว้นั้น ธ.ก.ส.อาจจะพิจารณายกให้เกษตรกรลูกหนี้ด้วยก็ได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานงานกับสถาบันการเงินหรือธนาคารอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนที่เหลือกลุ่มอื่น ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมและไม่มีผลกระทบระบบเศรษฐกิจและวินัยการเงินของประเทศด้วย ซึ่งกลุ่มลูกหนี้ที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ร่วมกับสถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐอื่น ๆ รวมทั้งสหกรณ์การเกษตรด้วย และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เกินกว่า 2.5 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่อ้างว่าเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร
"ขอให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ต้องการเสนอแนวทางแก้ไขหนี้ดังกล่าว ให้ทำเป็นหนังสือโดยระบุรายละเอียดข้อเสนอต่าง ๆ ส่งผ่านสำนักงานกองทุนฟื้นฟูจังหวัดมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจะได้นำมาพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินดังกล่าวต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องระดมสมาชิกทั้งหมดเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะจะเป็นการเสียทั้งเวลาประกอบอาชีพ ตลอดจนการทำมาหากิน และค่าใช้จ่ายของเกษตรกรเอง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเรียนว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานานนับ 10 ปี จนตกทอดมาถึงรัฐบาลนี้ ก็ได้หาทางขอผ่อนปรนและหามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับเจ้าหนี้ธนาคารต่าง ๆ มาโดยตลอด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลรักษาระบบการเงินของประเทศไม่ให้ได้รับความเสียหายหรือมีผลเสียกระทบต่อการบริหารงานของสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน กระทรวงเกษตรฯ จึงขอยืนยันว่าจะได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรแต่ละกลุ่มให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เรียบร้อยและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป" นายกฤษฎา กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit