ในบริบทของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการขนานนามว่ามีศิลปะ วัฒนธรรมอันสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก การนำแนวคิด Cultural Economy มาต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ นั่นก็คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนรวมถึง 2.754 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2561 รายได้จะพุ่งสูงถึง 3 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นโอกาสในสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตของฝากและของที่ระลึกภายในชุมชน สร้างเสน่ห์ด้วยการใส่อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดท่องเที่ยว
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในการส่งเสริมและผลักดันให้สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนได้รับการออกแบบและพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต ที่สามารถดึงเสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างให้เกิดเป็นสินค้าเด่นที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละจังหวัด แต่ละชุมชน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระดับท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานราก และสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามนโยบายสู่ภูมิภาค ให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเข้ามาซื้อหาถึงแหล่งผลิต สามารถดึงเม็ดเงินจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนเพื่อความยั่งยืน และทุกชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ผ่านสินค้าเด่นประจำชุมชน
สำหรับการดำเนินงานโครงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่สากล หรือที่เรียกขานในชื่อย่อๆว่า"โครงการไทยเด่น"กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานเครือข่ายร่วมดำเนิน งานโครงการหลายภาคส่วน ได้ร่วมกันเฟ้นหาและคัดเลือกผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเด่นมีอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ในแต่ละจังหวัด จำนวน 3 รายต่อจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 231 ราย เพื่อเข้าร่วมการอบรมสร้างมุมมองและแนวคิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่นและมีเสน่ห์ในการดึงดูดใจสร้างความจดจำแก่ผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน ในระหว่างวันที่ 5 - 7 ตุลาคม เป็นระยะเวลา 3 วัน ซึ่งทางโครงการได้จัดหลักสูตรพิเศษในการค้นหา Product Hero ของแต่ละจังหวัดโดยทีมนักการตลาด นักวิเคราะห์กลยุทธิ์ นักการสื่อสาร และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้า เป็นต้น รวมทั้งได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงของวงการ คุณตัน ภาสกรนที จากอิชิตัน และคุณฟูมิ ซาซาดะ จากบราวิส อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทออกแบบบรรจุภัณฑ์อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น พร้อมเสวนาจากประสบการณ์ตรงการสร้างธุรกิจจากศูนย์ โดย คุณจงใจ กิจแสวง (หมูทอดเจ้จง) คุณกรรณิการ์ โวหารบัณฑิตย์ (ไส้กรอกแม่ไก่) เป็นต้น ที่ได้มาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์อันทรงคุณค่า
ทั้งนี้โครงการฯ จะรับสมัครและคัดผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีความตั้งใจ เพื่อเข้าสู่กระบวนการออกแบบและพัฒนาสินค้าในเฟสที่ 1 โดยจะคัดเลือกให้เหลือตัวแทนจังหวัดละ 1 ราย รวมทั้งสิ้น 77 ราย พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยต่อยอดด้วยการนำสินค้าเข้าสู่การตลาดดิจิทัล ซึ่งทางโครงการได้รับเกียรติจากพันธมิตรหลากหลายองค์กร ที่จะสนับสนุนช่องทางการตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ AIS Business, ธนาคารกสิกรไทย และ King Power เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดให้มีกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าที่ผ่านการพัฒนาแล้วในสื่อโซเชียล เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย รวมทั้งจะได้เชื่อมโยงให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้เกิดการขยายการผลิตในท้องถิ่น รองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวของชุมชนต่อไปด้วย
โดยความคาดหวังของผู้ดำเนินการโครงการนี้ คือ เมื่อจบโครงการผู้ประกอบการชุมชนจะสามารถผลิตสินค้าของฝากที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เช่นเดียวกับ "โตเกียวบานาน่าของประเทศญี่ปุ่น" ให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดของประเทศไทย จนเกิดเป็นกระแสในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่และต้องซื้อหาสินค้าเด่นประจำชุมชนกลับไปพร้อมกับความทรงจำดีดี
ทั้งหมดนี้คือ นิยามของ "THAIDEN" ของเด่นต้องมี ของดีต้องซื้อฝาก สามารถติดตามข่าวสารจากโครงการได้ทาง www.facebook.com/thaiden.dip หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 061-545-9764 ไลน์โครงการ: @thaidenอีเมล: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit