สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ศึกษาเรื่อง การผลิต การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคทุเรียนและมังคุดอินทรีย์ในตลาดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยนางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สศก. เปิดเผยว่า การศึกษาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตทุเรียนและมังคุดอินทรีย์ของภาคตะวันออก (จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง) และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคทุเรียนและมังคุดอินทรีย์ในจังหวัดที่อยู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) โดยผลการศึกษา พบว่า
ด้านการผลิต ทุเรียนอินทรีย์ ในระยะปรับเปลี่ยน (ระยะ 18 เดือนแรก) จังหวัดจันทบุรี มีต้นทุนรวม เฉลี่ยไร่ละ 20,807 บาท ให้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ไร่ละ 63,513 บาทจังหวัดตราด ต้นทุนรวมเฉลี่ยไร่ละ 20,237 บาท มีผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 22,055 บาท และจังหวัดระยอง ต้นทุนรวมเฉลี่ยไร่ละ 17,590 บาท ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 41,950 บาทมังคุดอินทรีย์ ในระยะปรับเปลี่ยน (ระยะ 18 เดือนแรก) จังหวัดตราด มีต้นทุนรวมเฉลี่ยไร่ละ 25,017 บาท ให้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ไร่ละ 33,752 บาท จังหวัดจันทบุรี ต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 19,178 บาท ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 22,648 บาท และ จังหวัดระยอง ต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 15,348 บาท ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 4,757 บาท ทั้งนี้ ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลผลิตต่อไร่ในแต่ละพื้นที่
ด้านการตลาด เกษตรกรที่ผลิตทุเรียนอินทรีย์ ส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางคิดเป็นร้อยละ 38 ของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทุเรียนอินทรีย์ หากกรณีขายทุเรียนอินทรีย์แบบออนไลน์ในตลาดดิจิทัล จะมีต้นทุนการตลาดร้อยละ 31 (อาทิ ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าการตลาด) ให้ผลตอบแทนการตลาดร้อยละ 8 ของราคาขายปลีกทุเรียนอินทรีย์ออนไลน์ตลาดในประเทศ สำหรับเกษตรกรผลิตมังคุดอินทรีย์ ส่วนใหญ่ขายผู้แปรรูปเพื่อทำการแปรรูปมังคุดอินทรีย์ คิดเป็นร้อยละ 29 ของผลผลิตและผลิตภัณฑ์มังคุดอินทรีย์ ส่วนกรณีขายมังคุดอินทรีย์แบบออนไลน์มีต้นทุนการตลาดร้อยละ 34 และมีผลตอบแทนการตลาดร้อยละ 18 ของราคาขายปลีกมังคุดอินทรีย์ออนไลน์ตลาดภายในประเทศ
ด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้บริโภคมีแนวโน้มการตัดสินใจเลือกบริโภคผลไม้อินทรีย์มากถึง ร้อยละ 97 และแนะนำให้ผู้อื่นซื้อผลไม้อินทรีย์ถึงร้อยละ 94 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ (มกษ.) ของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ หรือตรา Organic Thailand โดยต้องการให้มีการจำหน่ายผลไม้อินทรีย์ในตลาดเขต EECในรูปแบบสั่งจองล่วงหน้า (Pre order) และขายออนไลน์ส่งถึงผู้บริโภค รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดงานต่างๆ เช่น จัดมหกรรมเกษตรอินทรีย์ ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์สีเขียว จัดตั้งตลาดกลางเกษตรอินทรีย์หรือศูนย์กระจายจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ
จากผลการศึกษา จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ผลิตทุเรียนและมังคุดอินทรีย์ มีผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาด EEC มีทิศทางปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ชอบความสะดวกสบายในการจัดส่งถึงบ้าน และมีความต้องการสนับสนุนการจัดมหกรรมเกษตรอินทรีย์ โดยแนะนำให้จัดงานหมุนเวียนไปในแต่ละจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์สู่ผู้บริโภค หรือมีศูนย์กระจายจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เพื่อรองรับการค้าขายแบบออนไลน์ สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลผลศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี โทร. 038 351 261 หรืออีเมล [email protected]