PwC แนะไทยเร่งยกระดับมาตรฐานบัญชีเป็นสากล เพื่อดันธุรกิจเติบโต – ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น

22 Oct 2018
PwC ประเทศไทย เผยการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีไทยสู่สากลเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องก้าวผ่านให้ได้ ระบุหากธุรกิจไทยใช้มาตรฐาน IFRS เช่นเดียวกับทั่วโลก จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แถมเอื้อต่อการไประดมทุนนอกประทศ ชี้บิ๊กดาต้าและเทคโนโลยีใหม่จะช่วยให้การทำบัญชีและตรวจสอบบัญชีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมแนะผู้ประกอบการ ศึกษา และทำความเข้าใจมาตรฐานบัญชีใหม่ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งดึงเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน
PwC แนะไทยเร่งยกระดับมาตรฐานบัญชีเป็นสากล เพื่อดันธุรกิจเติบโต – ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น

นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand's Symposium 2018 ในหัวข้อ "บริหารความท้าทาย เตรียมความพร้อมองค์กรสู่การเติบโต" (Managing challenges to unleash corporate growth) ว่า การยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards: IFRS) อย่างเต็มรูปแบบ ถือเป็นความท้าทายของการเติบโตของธุรกิจไทยในปัจจุบัน เพราะต้องอาศัยความพร้อมและความเข้าใจของผู้นำองค์กร ระบบ และบุคลากร รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แม้ว่าสภาวิชาชีพบัญชี ในฐานะผู้กำหนดและประกาศใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยจะได้พยายามผลักดันในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีหลายฉบับ อาทิ มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) มาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า (TFRS 15) และ มาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) เป็นต้น

"การยกระดับระบบบัญชีให้มีความเป็นสากลจะเป็นกุญแจสำคัญที่นำธุรกิจไทยไปสู่ความสำเร็จ เพราะจะทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทไทยได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนมากขึ้น สามารถเปรียบเทียบกันกับรายงานทางการเงินของบริษัทต่างชาติได้ โดยปัจจุบัน IFRS เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทยและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ หรือการระดมทุน การไปลงทุนทั้งในและนอกประเทศ"

สำหรับมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS 9 ที่เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 63 เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยมีเวลาเตรียมความพร้อมของระบบบัญชีและระบบงานนั้น มีเนื้อหาสำคัญ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน เช่น เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ รวมถึงเงินลงทุนประเภทต่างๆ 2) ปรับปรุงวิธีการรับรู้การด้อยค่าให้มีความชัดเจนมากขึ้น และ 3) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ การกำหนดการรับรู้การด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน โดยกิจการต้องกันเงินสำรองจากการให้กู้ยืมเงินเร็วขึ้น และต้องมีการพิจารณาและตั้งประมาณด้อยค่าตั้งแต่วันแรกที่รายการดังกล่าวเกิดขึ้น

"ที่ผ่านมา บริษัทไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงิน มีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและระบบ เพื่อรองรับมาตรฐาน IFRS 9 เกือบสมบูรณ์แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือ กลุ่มบริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และบริษัททั่วไป ที่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน หากไม่เร่งดำเนินการ อาจไม่ทันเวลาได้"

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS 9 ล่าช้านั้น ส่วนหนึ่งเพราะไทยไม่เคยใช้มาตรฐานการบัญชีเรื่องเครื่องมือทางการเงิน IAS 39 ซึ่ง IFRS 9 นั้น มีรากฐานมาจาก IAS 39 การรับรู้และวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน โดยหลายๆ ประเทศที่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐาน IFRS 9 ได้ตามกำหนด ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากประเทศนั้น ใช้มาตรฐาน IAS 39 มานานแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และ มาเลเซีย

"สำหรับบริษัทที่ยังไม่เคยเตรียมตัวรองรับมาตรฐาน IFRS 9 รวมไปถึงมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับอื่นๆ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรก คือ วิเคราะห์ว่า มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทอย่างไรบ้างทั้งในแง่ข้อแตกต่างด้านเนื้อหา ตัวเลข และการเปิดเผยข้อมูล จากนั้นให้ศึกษามาตรฐานฉบับใหม่อย่างละเอียด เพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งหากเกินความสามารถของบริษัท ก็ควรขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะจะช่วยวิเคราะห์ผลกระทบและหาทางออก ได้รวดเร็วและตรงจุด" นาย ชาญชัย กล่าว

ชี้ SME ตื่นตัวหันมาใช้มาตรฐาน IFRS

นาย ชาญชัย ยังกล่าวต่อว่า การทำรายงานการเงินตามมาตรฐาน IFRS ไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ยังสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี (Small and Medium-Sized Enterprises: SMEs) อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีแผนจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ ต้องการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ผ่านขยายธุรกิจโดยการควบรวมหรือซื้อกิจการ เพราะจะช่วยลดความยุ่งยากของการเตรียมความพร้อม อีกทั้งช่วยร่นระยะเวลาในการเตรียมตัวให้สั้นลงอีกด้วย

"ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เราพบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นตื่นตัวในการทำบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ทายาทรุ่นที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นรุ่นลูกหลานของตระกูลที่มีการศึกษาที่ดี และรวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย เพราะผู้นำรุ่นใหม่จะมองการณ์ไกล ต้องการระดมทุน ขยายตลาด ต้องการปรับเปลี่ยนกิจการให้มีความทันสมัยโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่และเน้นธรรมาภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใสในการทำงาน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานทางการเงินให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น"

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับกิจการที่ต้องการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น จะต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ที่มีรายงานทางการเงินปีล่าสุด และงบไตรมาสล่าสุดที่จัดทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย แต่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ประกาศเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา กำหนดว่า กิจการจะต้องมีการจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐาน TFRS เป็นเวลา 3 ปี และรายงานฉบับดังกล่าว จะต้องถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ในปี 2567

นาย ชาญชัย กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ใหม่ของสำนักงาน ก.ล.ต. จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจทั่วไปที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลท. ต้องเตรียมตัวมากขึ้น โดยบริษัทที่แผนการจะระดมทุนในปี 2567 จะต้องจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐาน TFRS ตั้งแต่ปี 2564-2566 และตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น ในช่วง 3-4 ปีนี้ เราอาจจะเห็นบริษัทเร่งเตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนใน ตลท. เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทันใช้หลักเกณฑ์เดิม ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการจัดเตรียมรายงานทางการเงิน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรายงานทางการเงินอีกด้วย ดังนั้น การที่ธุรกิจเอสเอ็มอีหรือธุรกิจทั่วไปใช้ระบบบัญชีตามมาตรฐาน TFRS แล้วยิ่งจะช่วยให้การเตรียมพร้อมเพื่อเข้าระดมทุนเป็นไปตามแผนและเข้าจดทะเบียนทันก่อนที่หลักเกณฑ์ใหม่จะประกาศใช้

เทคโนโลยีช่วยปรับระบบบัญชีไทยสู่มาตรฐานสากล

ปัจจุบันเราอยู่ในโลกของข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางบัญชี หากสามารถผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับข้อมูลได้ จะช่วยในการจัดทำรายงานทางการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตรวจสอบบัญชีและตัวรายงานมีความถูกต้องเหมาะสมขึ้น ซึ่งเป็นการตอบข้อสงสัยของนักลงทุนในด้านความเป็นกลาง และความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูล ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยเอื้อให้บริษัทไทยสามารถยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสู่สากลได้อย่างรวดเร็ว อาทิ การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive analytics) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน IFRS 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน มาตรฐาน TFRS 15 รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า และมาตรฐาน TFRS 16 สัญญาเช่า ต่างนำแนวคิดการคาดการณ์ไปยังอนาคต (Forward Looking) มาใช้แทบทั้งสิ้น"การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดผลกระทบในด้านการเงิน โดยเฉพาะการทำบัญชี ซึ่ง AI ระบบกระบวนการทำงานอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์ หรือ RPA การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytics และเทคโนโลยี Cloud จะเข้ามาช่วยในการบันทึกและวิเคราะห์กระบวนการทำงานของผู้สอบบัญชี ทำให้สามารถประมวลผลได้ภายในเสี้ยววินาที เพราะในยุคที่บริษัทแข่งขันกันด้วยข้อมูล ใครมีข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้มากกว่าก็จะได้เปรียบ"

นาย ชาญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้บริหารควรมีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อประมวลผลจัดการข้อมูลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อวิเคราะห์และจัดการกับข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัท นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะกระทบกับธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่า ควรพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใดถึงจะสอดคล้องกับแผนธุรกิจ รวมถึงจัดทำแผนการลงทุน เตรียมความพร้อมด้านทักษะของบุคลากร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ตามเป้าหมายและเหนือชั้นกว่าคู่แข่งทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit