ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินถึงเศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่และแสดงความเห็นถึงศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในอนาคตว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จะมีอัตราการเติบโตลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศคู่ค้า มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงจากระดับ 6.7% ในปีนี้เป็น 6.2% และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯก็ถูกปรับลดลงจาก 2.7% เป็น 2.5% ผลกระทบสงครามการค้าเริ่มส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% ลดลงเหลือ 3.7% และปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลงชัดเจนขึ้นในไตรมาสสี่ ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นโดยค่าเฉลี่ยอาจขึ้นไปแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาสินทรัพย์ทางการเงินโดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง โดยคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่เทียบกับระยะเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วจะอยู่ที่ 4.2-4.3% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตครึ่งปีแรก (เทียบไตมาสแรกขยายตัว 4.9% ไตรมาสสองขยายตัว 4.6%) การที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้มากกว่า 4% เป็นผลจากการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ อัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นและสูงกว่า 70% ไม่ต่ำกว่า 5 รายอุตสาหกรรมทำให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งและกิจกรรมการเลือกตั้งส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในภาพรวม ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม หากการจัดการเลือกตั้งไม่เสรีและไม่เป็นธรรม จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอน ไม่มั่นใจต่ออนาคตของประเทศ รวมทั้งอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคต การเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆก็จะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมรวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและออกแบบให้รัฐบาลมีเสถียรภาพจึงมีความสำคัญต่อประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน หากมีเลื่อนการเลือกตั้งจาก 24 กุมภาพันธ์อีกจะส่งผลกระทบทำให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสหนึ่งปีหน้า
การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไตรมาสสี่ปีนี้ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจะนำมาสู่เสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ส่งผลดีต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยในอนาคต ไม่ควรวิตกกังวลการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะนำมาสู่ความขัดแย้งเผชิญหน้าหรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง การไม่ปลดล็อคทางการเมืองต่างหากจะสร้างปัญหาและนำไปสู่ความรู้สึกว่ามีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การกดทับสิทธิเสรีภาพต่างหากที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งรุนแรงและทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ส่วนการเคลื่อนไหวหลังการเลือกตั้งเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยจะนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับพลวัตเศรษฐกิจการเมืองโลกมากกว่าซึ่งจะส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ดีกว่าสิทธิประโยชน์พิเศษทั้งหลายที่มอบให้นักลงทุนต่างชาติ และ ระบบนิติรัฐ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้แข็งแกร่งขึ้น
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยล่าสุดปี พ.ศ. 2561 ปรับตัวลดลงทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีการเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ Hard Infrastructure จำนวนมาก แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพิ่มเติม ดูแลทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และ สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพราะล่าสุดมีอันดับที่ลดลง นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Soft Infrastructure ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้ง ระบบนิติรัฐ ระบบกฎหมาย การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันและสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ในระยะยาวแล้ว เศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตบนฐานนวัตกรรมและผลิตภาพเนื่องจากการขยายตัวของแรงงานและทุนมีข้อจำกัดและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยนั้นยังลงทุนทางด้านนวัตกรรมน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit