นายมาซาฮารุ คูบะ (Mr. Masaharu Kuba) เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ JENESYS หรือ Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่น กับประเทศในกลุ่มอาเซียนและโอเชียเนีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสริมสร้างความเข้าใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นในมุมที่กว้างขึ้น โดยโครงการ JENESYS 2018 สำหรับประเทศไทย ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ 9th Batch Exchange for "Monozukuri (Manufacturing)" and Technology (Thailand) น้องๆ จะได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มิไรคัง ที่กรุงโตเกียว และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในจังหวัดฮอกไกโด ซึ่งแม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่น้องๆ จะได้รับความประทับใจ และความสนุกสนานกลับมาแน่นอน โดยในการทัศนศึกษา น้องๆ จะได้พบเห็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น การศึกษา และเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เมื่อดูแล้วอยากให้ลองตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเจอ และหาคำตอบว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนญี่ปุ่นถึงสร้างเทคโนโลยีนั้นออกมา โดยกิจกรรมมีระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงมีโปรแกรมทัศนศึกษาที่เข้มข้นมาก และคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในอนาคตสำหรับน้องๆ ได้ ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งหวังให้เมื่อน้องๆ กลับมาประเทศไทยแล้วได้เผยแพร่สิ่งที่ได้รับผ่านโซเชียลมีเดีย สู่ครอบครัว และเพื่อนๆ ได้รับทราบทั่วถึงกัน เพื่อเป็นรากฐานที่จะผูกสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในอนาคตต่อไป"
นางอติพร สุวรรณ หัวหน้างานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย สวทช. กล่าวว่า "สวทช. โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย ได้ให้ความร่วมมือแก่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในการดำเนินการคัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการ JENESYS มาแล้วหลายรุ่น โดยในรอบ 1 ประจำปี 2561 ได้คัดเลือกเยาวชนไทยจำนวน 11 คนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2018 ถือเป็นทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ที่จะได้เดินทางไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น พร้อมแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับน้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมากกว่าการเดินทางไปแบบส่วนตัว"
ด้าน 2 เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ น.ส.ชุติกาญจน์ ศรีสอาดรักษ์ (มิ้นท์) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) กรุงเทพฯ เผยว่า "หลังจากที่กลับมาจากโครงการ JENESYS 2018 นี้ ตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และการที่เราได้ไปรู้จักคนอื่น คนที่มีพื้นฐานแตกต่างจากเรา เราจะได้เห็นในเรื่องของกระบวนการทางความคิดหรือ mindset ของเขา เพราะการที่เราคนไทยได้ไปเจอคนญี่ปุ่นหรือเพื่อนที่มาจากต่างประเทศ เราจะมีมุมมองแตกต่างกัน ดังนั้น เวลาเรามองสิ่งหนึ่งแล้วเราจะได้เห็นมุมมองเขาว่า เขาสามารถมองสิ่งนี้เป็นแนวคิดอย่างไร และเราจะได้เห็นอะไรหลากหลายยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เราเคยเจอ" ขณะที่ นายพุฒิเมธ เลขะกุล พรหมอินทร์ (แทน) นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแสงทองวิทยา จ.สงขลา เผยว่า "มีความคาดหวังจากโครงการ JENESYS 2018 อยู่สองส่วน ในส่วนแรกคือในด้านเทคโนโลยี คือจากหัวข้อของค่ายนี้เราจะไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในด้านเทคโนโลยี จุดเด่นคือเขาสามารถนำเทคโนโลยีให้มาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนได้อย่างใกล้ชิด สิ่งที่ผมต้องการทราบคือเขาทำอย่างไร แล้วเราจะได้นำมาปรับใช้กับประเทศเรา ส่วนที่สองคือเรื่องมารยาทของผู้คนและเรื่องการฝึกงาน คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความมีมารยาท ความรับผิดชอบ และคุณภาพของบุคลากร ผมอยากเห็นว่าคนญี่ปุ่นเขามีการฝึกคนในเรื่องดังกล่าวอย่างไร"