ชาวเชียงแสนร่วมใจใส่บาตรเที่ยงคืน สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวเหนือ

24 Oct 2018
เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ร่วมกับ กองทุนมหาอุปคุต วัด ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และโครงการ ตฤณ นครา โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล จัดงานร่วมสืบตำนานมรดกวัฒนธรรมประเพณีโบราณ "ขบวนอัญเชิญพระอุปคุต" และ"ตักบาตรเที่ยงคืน" หรือ พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด อย่างงดงามและยิ่งใหญ่ ชาวเชียงแสนกว่าพันคนร่วมใจใส่บาตรเที่ยงคืนเพื่อเป็นพุทธบูชา ศิริมงคลแก่ชีวิตและสืบสานประเพณีอันดีงามของชาวเหนือ ณ วัดเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ชาวเชียงแสนร่วมใจใส่บาตรเที่ยงคืน สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวเหนือ

นายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่า เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ร่วมกับ กองทุนมหาอุปคุต วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุตุผาเงา ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และโครงการ ตฤณ นครา โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล ได้จัดงานร่วมสืบตำนานมรดกวัฒนธรรมประเพณีโบราณ "ขบวนอัญเชิญพระอุปคุต" และ "ตักบาตรเที่ยงคืน" หรือ พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด ณ วัดเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยในทุกวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวไทยวน (อ่านว่าไท-ยวน) จะเรียกว่าเป็น "วันเป็งปุ๊ด" พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ ซึ่งเชื่อว่าถ้าพุทธศาสนิกชนได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้วบุคคลนั้นจะประสบแต่ความสุข ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองได้อานิสงส์แรง ดังนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญตรงกับวันพุธ ชาวเหนือทุกคนโดยเฉพาะชาวเชียงแสนนับถือเป็นประเพณีที่เฝ้ารอจะไปคอยใส่บาตรเป็นพิเศษเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต

"พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด" เป็นประเพณีเก่าแก่ที่นับวันจะพบน้อยลง เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนจีงได้จัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง และมีผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสานขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ อ.เชียงแสนให้เป็นที่รู้จักถึงวันสำคัญทางศาสนาของชาวเหนือ" นายพินิจ กล่าว

ด้าน นายวารินทร์ สุตะวงศ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน กล่าวว่า พิธีตักบาตรเที่ยงคืน หรือ พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด เป็นประเพณีโบราณของชาวภาคเหนือ ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 400 ปี สันนิษฐานว่าชาวล้านนาได้รับการผสมผสานวัฒนธรรมมาจากชาวพม่าและชาวไทยลื้อ ชาวพม่ามักตื่นแต่ดึกเพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อว่า หากผู้ใดที่มีโอกาสได้ร่วมทำบุญตักบาตรอุปคุตแล้ว ทั้งตนเองและครอบครัวจะมีความสุขความเจริญ ร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์ แคล้วคลาด ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงตลอดไป คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ พระสงฆ์จะประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารหลวง จากนั้นเป็นพิธีถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาอุปคุต จวบจนเวลาล่วงเข้าเที่ยงคืนวันเพ็ญ ขบวนพระสงฆ์ สามเณร จะเดินออกจากวิหารไปรับบาตรจากพุทธศาสนิกชนภายในบริเวณวัดเป็นอันเสร็จพิธี โดยทางวัดได้จัดเตรียมสถานที่ทั้งในบริเวณวัด เพื่อรองรับชาวพุทธล้านนาที่คาดว่าจะร่วมประเพณีสำคัญนี้หลายพันคนเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านๆ มาพระภิกษุสามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน โดยจะตักบาตรคืนวันอังคารที่ 23 ตุลาคมหลังเวลา 00.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่วันพุธ เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ พุทธศาสนิกชนชาวเชียงแสน จะร่วมกันตักบาตรโดยพร้อมเพรียงกัน การทำบุญครั้งนี้ สร้างความอิ่มอกอิ่มใจ เพราะชื่อตักบาตรเที่ยงคืน และอธิษฐานขอพรสิ่งใดไว้ ก็จะสำเร็จผลได้ง่ายกว่าการอธิษฐานในเวลาปกติในอดีตกาลกล่าวกันว่า ผู้ใดที่สามารถใส่บาตรพระอุปคุตได้ ต้องเป็นผู้ที่กระทำกรรมดีมามากมาย หรือเป็นผู้ทุกข์ทนและร้อนใจ ซึ่งพระอุปคุตต้องการโปรดสัตว์ โดยเชื่อกันว่า พระอุปคุตได้บำเพ็ญศีลภาวนาใต้ท้องทะเล จะออกมารับบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืนของวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ หากใครได้ตักบาตรในช่วงเวลาดังกล่าว ถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างมหาศาล และจะประสบผลสำเร็จในชีวิต เพราะเชื่อว่าพระอุปคุต เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย

ทางด้านนายตฤณ นิลประเสริฐ ผู้บริหารโครงการตฤณ นครา โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล ได้กล่าวถึงในฐานะผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม "ขบวนอัญเชิญพระอุปคุต"และ "ตักบาตรเที่ยงคืน" หรือพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด โดยร่วมถวายเป็นพุทธบูชา สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเชียงแสนนี้ การมีส่วนร่วมกับชาวเชียงแสนในกิจกรรมพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ดถือว่าเป็นมหาบุญและกุศล ตามนโยบายของโครงการที่จะเป็นส่วนหนึ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน และฟื้นฟู อนุรักษ์ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามให้คงอยู่สืบไป

ชาวเชียงแสนร่วมใจใส่บาตรเที่ยงคืน สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวเหนือ ชาวเชียงแสนร่วมใจใส่บาตรเที่ยงคืน สืบสานประเพณีอันดีงามของชาวเหนือ