เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด "งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 (Book Expo Thailand 2018)" และ "เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12" ระหว่างวันพุธที่ 17 – วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561 (12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด "อ่านออกเสียง"
นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในประเทศไทยนั้น เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 เน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์แรกสร้างพฤติกรรมการอ่านให้คนทุกวัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในเมืองและภูมิภาค ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพแห่งการเรียนรู้ สื่อการอ่าน และยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการอ่าน ด้วยตระหนักอย่างแน่ชัดจากตัวอย่างของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วว่า ประเทศที่มีพลเมืองมีนิสัยรักการอ่าน จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อการพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง และยั่งยืน
"ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทุกสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องในการผลิตหนังสือ แต่งานในครั้งนี้จะเป็นอีกบทพิสูจน์สำคัญที่จะทำให้ทุกคนประจักษ์ว่า ประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อหนังสือ ยังมีคนทำหนังสือ และยังมีคนอ่านหนังสือ ซึ่งนับเป็นรากฐานที่สำคัญและเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา และก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ให้เกิดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 และ และเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 นี้ขึ้นมา"
นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า "มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23" ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดานักอ่านมาตลอด โดยจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด "อ่านออกเสียง" การอ่านออกเสียง คือ การอ่านให้มีเสียงดัง เป็นการอ่านเพื่อส่งสาร การอ่านออกเสียง ยิ่งออกเสียงดังเท่าไร ก็จะช่วยให้มีสมาธิ จดจำเนื้อหาได้ง่ายและได้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้อ่านอ่านหนังสือหรือบทความแม้เป็นเรื่องเดียวกัน ผู้อ่านแต่ละคนก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน จึงมีการออกเสียง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน หนังสือและการอ่านจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงนั่นเอง และพิเศษสุดคือการจัดงาน "เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12" ขึ้นพร้อมกัน ทำให้งานครั้งนี้เป็นงานสำหรับทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง
"ปีนี้เรามีในงานมีนิทรรศการหลักๆ อยู่ 3 นิทรรศการ เริ่มจากนิทรรศการ 'หนังสือสาบสูญ 3018' บริเวณหน้าห้องเพลนารีฮอลล์ 'นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน' ที่ห้องมีทติ้งรูม 1-2 และ นิทรรศการ 'ท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม' โซนฮออล์เอ นอกจากนี้ยังมี นิทรรศการ 'หนังสือติดดาว'/ นิทรรศการ '100ABCD'/ นิทรรศการ 'TK Book Rally รู้จักกันผ่านหนังสือ' และนิทรรศการ 'สื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2' รวมทั้งนิทรรศการอื่นๆ ที่จัดแสดงโดยหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่จะจัดแสดงให้ชมในงานครั้งนี้อีกด้วย" นางสุชาดากล่าว
"นิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018" คือนิทรรศการที่จะชวนผู้ชมมาร่วมเดินทางเพื่อสำรวจอนาคตของหนังสือจากอดีต ซึ่งแนวคิดนั้นเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่า 'หนังสือ 99.5% สูญสลายหายไปตามกาลเวลา และมีเพียงส่วนที่เหลือไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำที่จะสามารถคงอยู่ต่อไป' เพราะหนังสือที่เป็นแกนหลักของโลกวรรณกรรมซึ่งได้ชื่อว่าเป็นงานคลาสสิคหรือถูกพิมพ์ซ้ำหลายครั้งนั้น คิดเป็นเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือที่มีทั้งหมด ในขณะที่หนังสือซึ่งสาบสูญไปตามกาลเวลามีมากถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์ ผู้ชมนิทรรศการจะสามารถเข้าใจถึงบทบาทอันสำคัญของ "ผู้อ่าน" ที่มีผลต่อการอยู่รอดข้ามผ่านการเวลาของหนังสือ รวมถึงหน้าที่การเป็นผู้คัดสรรแกนหลักของวรรณกรรมเอกของโลก โดยที่ตัวเองอาจไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักๆคือ ประวัติศาสตร์ของผู้อ่าน, กระบวนการสาบสูญของหนังสือ/ทฤษฎี The Great Unread, แบบจำลองการผลิตหนังสือ, ตามหาวรรณกรรมที่สาบสูญ และเครื่องจักรย้อนเวลา
โดยความเข้าใจดังกล่าว เกิดจากกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่ยืนอ่านเฉยๆ อาทิ "แบบจำลองการผลิตหนังสือ" ที่เสนอในลักษณะของ "interactive exhibition" ซึ่งทำให้ผู้ชมหรือผู้อ่านได้มีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือของโลกอนาคตด้วย และเขียนร่วมกับคนอื่นๆ โดยเริ่มจากการกำหนดประโยคต้นเรื่องให้กับเรื่องเล่าสองแนวทาง คือแนวสยองขวัญ และแนวโรแมนติค ด้วยประโยคเดียวกัน ส่วนประโยคต่อๆไปให้ ผู้ชมก็จะช่วยกันเขียนและนำพาเรื่องราวไปตามทิศทางที่ตัวเองต้องการผ่านแนวนำเรื่องที่กำหนดไว้ ด้วยการนำเสนอผ่านสื่อกลางอย่าง web interface และคอมพิวเตอร์ พอจบงานมหกรรมหนังสือฯ ก็จะเข้าไปอ่านหนังสือฉบับเต็มออนไลน์ได้ รวมถึงใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้แต่งร่วมกับคนอื่นๆได้
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อ "เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12" ได้แก่
"นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน" นิทรรศการสำหรับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เพื่อให้เด็กได้ค้นพบความถนัด ผ่านการเล่นกิจกรรม 10 ฐานที่ทั้งสนุกและสร้างการเรียนรู้แตกต่างกันไป โดยเฉพาะการวิเคราะห์ลายนิ้วความถนัดของเด็ก เพื่อจะได้ส่งเสริมเด็กไปตามความถนัดนั่นเอง โดยการเข้าชมนิทรรศการนี้ เด็กๆ จะต้องเข้าไปกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อทำกิจกรรมแต่ละฐานร่วมกัน และมีของที่ระลึกพิเศษมอบให้หากร่วมกิจกรรมครบทุกฐาน
"นิทรรศการท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม" นิทรรศการระดับโลกที่ผ่านการจัดแสดงทั้งใน กรุงปารีส เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และไทเป และส่งตรงมางานมหกรรมหนังสือที่ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยที่ชื่นชอบงานอนิเมะ โดยนำภาพสเก็ตช์และสตอรี่บอร์ดจริงของ Hosoda Mamoru (โฮโซดะ มาโมรุ) ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะชื่อดัง และผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ล้วนมาจากภาพยนตร์ของเขาที่เข้าฉายในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์เป็นนิยายและหนังสือการ์ตูนในฉบับภาษาไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกสำหรับงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนที่จะเชิญเด็กจากชุมชนปีนัง ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่พวกเขากลับไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามาร่วมงาน โดยได้รับเชิญจากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เพื่อเป็นแขกพิเศษเข้าชมนิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน และมอบบัตรของขวัญ เพื่อนำไปซื้อหนังสือจากในงานอีกด้วย
ด้านเวทีเสวนาหรือเวทีเอเทรียม ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจับตามอง ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษให้กับโครงการหนึ่งอ่านล้านตื่น ในหัวข้อ "การอ่านสร้างนวัตกรรม" ในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม เวลา 11.00 น. และอีกหนึ่งรายการสำคัญจากทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คือการเสวนาในชื่อว่า "เสียงที่ไม่(เคย)ได้ยิน" อ่าน I ออก I เสียง เพื่อหนังสือและประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อประชาชนและนักการเมืองจะมาพูดถึงหนังสือซึ่งจัดขึ้น 2 วัน
เริ่มจากวันที่ 18 ตุลาคมจะเป็น เวทีภาคประชาชน ผู้ร่วมเสวนาคือ เดย์ ฟรีแมน นักแสดงนางโชว์ตัวแม่และนักอ่านตัวยง บังเจ๊ะหัน ยะลา ชาวบ้านจากกระบี่ ผู้พลิกชีวิตจากศูนย์เป็นล้านด้วยความรู้จากการอ่าน พลอย – สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนผู้ดวงตาพิการ เจ้าของวรรณกรรมเยาวชน "จนกว่าเด็กปิดตาจะโต" และจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด ดำเนินรายการโดย จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรม และวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม เป็น เวทีภาคการเมือง ซึ่งจะมีพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเสวนาแนวคิดและความเห็นเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านในประเทศไทยจากมุมมองของนักการเมือง คือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย ประสาร มฤคพิทักษ์ ผู้แทนจากพรรคพรรครวมพลังประชาชาติไทย ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้แทนจากพรรคอนาคตใหม่ รัชดา ธนาดิเรก ผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดย มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) โดยทั้งสองวันจะเริ่มเวลา 17:00 – 19:00 น.
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาและการเปิดตัวหนังสือใหม่ จากผู้มีชื่อเสียง อาทิ ท่าน ว วชิรเมธี/ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ/ ดร. มีชัย วีระไวทยะ/ น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา/ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ/ บัวขาว บัญชาเมฆ และ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) ที่มากับ อาเลย์ดา เกวารา บุตรสาวคนโตของเช เกวารา บินตรงจากคิวบาเพื่อร่วมงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดตารางเวทีเสวนาต่าง ๆ ได้จาก Facebook.com/Bookthai
พิเศษสุด โปสการ์ด "อ่านออกเสียง" Limited Edition การผนึกลายเส้นครั้งสำคัญจาก 17 นักวาดชั้นนำและสำนักพิมพ์ชื่อดัง เริ่มจาก Art Jeeno/ Eat all day/ Jaytherabbit/ Sisidea/ คิ้วต่ำ/ เดอะดวง/ ตัวกลม/ ปังปอนด์/ มะม่วง/ มุนิน/ หนูหิ่น/ หัวแตงโม/ สำนักพิมพ์แจ่มใส/ สำนักพิมพ์นาบู/ สำนักพิมพ์พราว/ สำนักพิมพ์พูนิก้า และสำนักพิมพ์อี.คิว. พลัส แจกฟรีให้กับผู้เข้าชมงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 23 นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนจะนำหนังสือ Guidebook ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มาเปิดตัวและแจกฟรีให้กับหนอนหนังสือนักเดินทาง ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม เป็นต้นไปอีกด้วย
พบกับหนังสือราคาพิเศษที่คัดสรรมาให้เลือกกว่า 1,000,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ 376 ราย รวมทั้งสิ้น 931 บูธบนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร มาร่วมอ่านออกเสียงให้ดังสนั่นที่ "งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23" และ "เทศกาศหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12" ระหว่างวันพุธที่ 17 – วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561 รวมทั้งสิ้น 12 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit