สองหนุ่มใหญ่ก้าวข้ามปมด้อยต้นทุนชีวิตติดลบ ทำงานจิตอาสาจนวันนี้ก้าวสู่เวทีประชุมนานาชาติขึ้นปลุกพลังใจให้คนลุกขึ้นสู้

18 Oct 2018
สองหนุ่มใหญ่ใจเกินร้อยคนไทยตัวอย่างวันนี้ ครูเชาว์ โตมาจากต้นทุนชีวิตติดลบ แต่ก้าวข้ามปมด้อยของตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคมช่วยเหลือเด็กๆ ชุมชนแออัด 6 แห่ง ด้วยแนวคิด อย่าให้อย่างเดียว ต้องสอนให้คนรับรู้จักตอบแทนสังคม- แท็กซี่จิตอาสา สุวรรณฉัตร พรหมชาติ เผยแรงบันดาลใจจากคนป่วยหัวเข่าเน่าข้างถนนเคยได้รับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้า ทำให้กลายเป็นจิตอาสาในวันนี้ ทุกวันนี้ยังโดนมองว่า "บ้า" แต่ไม่สนใจเดินหน้าขอทำหน้าที่เป็นสะพานบุญจนกว่าจะทำไม่ไหว ร่วมปลุกพลังในการประชุมนานาชาติ The Givers Network 2018, Bangkok "Together we can give better ให้ด้วยกัน ยิ่งให้ได้ไกล" พร้อมเชิญชวนบุคคลทั่วไปและองค์กรร่วมเป็นสมาชิก The Givers Network เครือข่ายผู้ที่มีจิตใจของการให้ เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และต่อยอดการให้โดยเวทีที่สองหนุ่มขึ้นพูดนี้มี 4 องค์กรการกุศลระดับประเทศประกอบด้วย Asia Philanthropy Circle - APC, Thai Young Philanthropist Network -TYPN, มูลนิธิเพื่อคนไทย และมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ ได้ร่วมกันจัดประชุมนานาชาติ "The Givers Network2018, Bangkok" เมื่อเร็วๆนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก สองหนุ่มได้ร่วมกันแชร์พลังใจในภาคเช้าท่ามกลางผู้เข้าฟังอย่างท่วมท้นกว่า 500 คน
สองหนุ่มใหญ่ก้าวข้ามปมด้อยต้นทุนชีวิตติดลบ ทำงานจิตอาสาจนวันนี้ก้าวสู่เวทีประชุมนานาชาติขึ้นปลุกพลังใจให้คนลุกขึ้นสู้

ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ ตัวแทน The Givers Network และ ประธานมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ กล่าวถึงความตั้งใจขององค์กรการกุศลที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้ ในการใช้เวทีการประชุม The Givers Network 2018, Bangkok ในครั้งนี้ ปลุกพลังของการให้ ไม่เพียงแก่ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า500 คน แต่รวมถึงผู้คนทั่วไปในสังคม ผ่าน 5 เรื่องราวชีวิตและมุมมองการให้ในมิติที่แตกต่างกันไป โดยหวังให้เกิดแรงส่งให้ผู้คนร่วมให้ด้วยกันที่มีพลังและเกิดผลมากยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ เครือข่ายผู้มีจิตใจของการให้ The Givers Network ได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้ทั้งในระดับองค์กรและบุคคลร่วมลงทะเบียนเป็นสมาชิกผ่านเว็บไซต์ www.giversnetwork.org

"เรามีความตั้งใจให้ The Givers Network เป็นเวทีของทุกคน ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และต่อยอดการให้ด้วยกัน จึงจำเป็นที่เราจะต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้ที่มีประสบการณ์ของการให้ในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อนำมาเป็นโจทย์ของการพัฒนาเครือข่ายให้สามารถตอบสนองการทำงานร่วมกันของผู้ให้ที่ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นปัญหาสังคมอย่างเข้าใจถ่องแท้ การแบ่งปันทรัพยากรที่หลากหลายเพื่อเติมเต็มพันธกิจของการให้ของแต่ละคน รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์และถอดแบบบทเรียน เพื่อสามารถต่อยอดซึ่งกันและกัน ดังนั้น เราจึงยังมีงานในส่วนของแพล็ตฟอร์มที่ต้องดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจากเสียงตอบรับที่ท่วมท้นจากผู้ร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 500 คน เราจึงกำหนดจัดประชุมนานาชาติ The Givers Network เป็นประจำทุกปี" ดร.วิทย์ กล่าวปิดท้าย

สุวรรณฉัตร พรหมชาติ แท็กซี่จิตอาสาที่ให้บริการรับส่ง(ฟรี)สำหรับคนพิการ คนป่วย และไม่ใช่แค่ขับรถไปส่ง ยังช่วยอุ้มจากเตียงที่บ้านไปถึงโรงพยาบาล เขาทำแบบนี้มานานกว่ายี่สิบปีแล้ว ทุกครั้งที่ต้องพูดถึงเบื้องหลังที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เขาต้องร้องไห้กับความเจ็บปวดและความสุขในอดีต เพราะเขาเองก็เคยผ่านช่วงเวลาลำบากและยากจนมาก่อน บ่อยครั้งไม่มีกิน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากคนที่ไม่เคยรู้จักเลย ทำให้ตระหนักรู้ว่า ควรใช้ชีวิตให้มีคุณค่าต่อผู้อื่น

"ชีวิตคนเราจะแค่เรียนหนังสือ ทำงาน แก่ เข้าเตาเผา ชีวิตมีแค่นี้เองหรือ" สุวรรณฉัตร เล่าบนเวที The Givers Network 2018 ปัจจุบันนี้ ภารกิจหลักของแท็กซี่จิตอาสาคนนี้คือ ตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 หรือไม่ก็ตี4 เพราะมีผู้ป่วยจองคิวให้ไปรับประมาณ 4 คน บางทีมีขาจรเพิ่มอีกสามคน "สิ่งที่ผมทำ ก็ซ้ำๆ ซากๆ ไปรับ ไปส่งผู้ป่วย นั่นทำให้เพื่อนๆ ที่รู้จักกัน มองว่า ผมไม่เต็มหรือบ้าหรือป่าว " และการทำงานในลักษณะนี้ เขาต้องใส่เข็มขัดพยุงหลัง ปลอกแขน ผ้ากันเปื้อน และหน้ากากอนามัย(บางครั้ง) เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและตัวเขา

"ผมก็คัดกรองนำไปให้ผู้ป่วยที่เราไปช่วย เพราะบางคนต้องนอนบนพื้นกระดาน พื้นปูน และไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เราก็เป็นสะพานบุญให้ โพสต์เพื่อขอบคุณคนที่แบ่งปันให้คนอื่น เคยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ที่นอนผม ไปช่วยคนที่ขาดแคลนไม่อั้น หรือคนที่อยู่อเมริกา โอนเงินมาให้ซื้ออุปกรณ์ให้ผู้ป่วย" สำหรับเขาแล้ว การเป็นสะพานบุญ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ "เงินที่คนบริจาคมา เวลาเอาไปซื้อของ ต้องมีใบเสร็จส่งให้เขาดู เพื่อให้คนป่วยขอบคุณคนให้ด้วย ในช่วง 20 ปีที่ผมเป็นจิตอาสา มีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย หลายคนไม่รู้สิทธิเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงวัย คนป่วยบางคนก็ไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เราก็ประสานงานให้ใช้สิทธิ บางทีต้องอุ้มคนป่วยไปที่ธนาคาร หรือสำนักที่ดิน เพื่อทำธุรกรรม" ปัญหาที่เขาเล่า ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดมาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม แม้กระทั่งระบบธนาคารหลายแห่ง ก็ยังไม่มีระบบช่วยเหลือให้คนป่วย คนพิการ หรือคนสูงวัย ทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแท็กซี่จิตอาสาคนนี้ มีแรงบันดาลใจที่มั่นคง ทั้งที่ผจญกับความลำบากในชีวิต สุวรรณฉัตร บอกว่า เคยกินแม้กระทั่งดิน เพราะยากจนมาก "เราก็รอดตายมาหลายครั้ง ก็เลยอยากทำสิ่งๆ นี้ ตอนเด็กๆ ไปโรงเรียนก็ไปล้างจานแลกอาหาร บางครั้งรองเท้าไม่มีใส่ เดินบนดินลูกรัง ผมเรียนถึงประถม 3 ก็บวชเณร สึกมาทำงานก่อสร้างกับพ่อ ผมไปทำงานที่ไหนก็เจอคนเอาเปรียบ ไม่ได้ค่าแรง ได้แค่ข้าวกิน เคยลำบากมาเยอะ คงมีกรรมต้องชดใช้ ผมเป็นนครศรีธรรมราช เคยนั่งรถไฟมาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ถูกหลอกไปทำงานบนเรือที่ชุมพร ระหว่างรอที่ท่าเรือ เกิดอุบัติเหตุ คิดว่าออกเรือไม่ได้แล้ว แต่เจ้าของเรือจ่ายเงินค่านายหน้าไปแล้ว ก็ต้องไป ทั้งๆ ที่แผลจากอุบัติเหตุ ไม่ได้ใส่ยารักษาเลยเป็นเวลาแปดวัน ผมถูกซ้อมถูกตี จนหลบหนีออกมาได้ ต้องนอนไข้ขึ้นอยู่ที่สถานีรถไฟชุมพร คนเดินผ่านไปผ่านมาทั้งวัน ผมก็หลับไม่รู้สึกตัว จนมีคนมาเขย่าตัว ซื้อข้าว ซื้อน้ำและตั๋วรถไฟฟ้าให้ จากน้ำใจที่ได้รับจากคนแปลกหน้านั่นเป็นแรงบันดาลให้ผมอยากทำความดี

"ทุกครั้งที่ผมเล่าเรื่องของตัวเอง ผมร้องไห้ทุกครั้ง ภาพที่ผมป่วยหัวเข่าเน่าไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเอง ต้องนอนอยู่สถานีรถไฟคนเดียว มีคนเดินผ่านหน้าผมไปมาเป็นร้อยคน แต่ก็ไม่มีสักคนที่จะมาถามไถ่ ผ่านไปหลายวันจนผมนอนสลบไปเพราะพิษไข้ วันหนึ่งมีคนมาปลุกผม แล้วถามว่า ทำไมมานอนแบบนี้ ไปทำอะไรมาถึงเป็นแผลขนาดนี้ เขามาช่วยเหลือผมซื๋อข้าวซื้อน้ำมาให้ผม จุดนั้นเขาเป็นเหมือนเทวดามาโปรดผมจริงๆ " เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ ผมทำงานโรงงานกระดาษ ได้ค่าแรงวันละ 70 บาท และที่สุดมาเป็นยาม โดยตำรวจเจ้าของบริษัทบอกว่า จะให้ค่าแรงวันละ 250 บาท เห็นว่าไม่มีญาติ ก็ให้ที่พักฟรี ค่าข้าวฟรี ทำงานมาห้าเดือน ไม่ได้เงินสักบาท ทวงเงินก็ไม่ได้ เคยเห็นคนถูกซ้อม และวันหนึ่งก็เจอกับตัวเอง ตอนที่เดินไปขอเงินเดือนเพื่อส่งกลับบ้าน เขาจับแขนล็อคกุญแจมือแล้วซ้อม เมียเขาเป็นอาจารย์ก็นั่งดูเฉย แต่ลูกน้องที่เห็นตาแดงๆ สงสารเรา จนผมออกมาทำงานเป็นช่างเชื่อม แล้วมาขับแท็กซี่มีอิสระได้เงินเยอะกว่า "

ที่ผ่านมาแม้เขาจะพบทดสอบสารพัด ถูกเอาเปรียบและถูกทำร้ายเกือบตลอดชีวิตในวัยหนุ่ม แต่สุวรรณฉัตร กลับคิดว่า "คนอื่นจะทำกับเรายังไง เราจำขึ้นใจว่า อย่าไปทำกับคนอื่นแบบเดียวกับที่เขาทำกับเรา"

เชาวลิต สาดสมัย หรือครูเชาว์ จิตอาสาผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กๆ ในชุมชมแออัดบริเวณใต้สะพานพระราม 8 กับต้นทุนชีวิตที่มากกว่าติดลบ เขาเกิดมาพร้อมความพิการแบบออติสติค เติบโตในสถานสงเคราะห์ แสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ถ้ามีความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ ในขณะที่เด็กวัยรุ่นหลายๆคน จมอยู่กับปัญหายาเสพติด หรือไม่พร้อมแบบท้องก่อนแต่ง หรือหมกมุ่นกับปัญหาส่วนตัวที่ส่อแววว่าจะตัดทอนอนาคตของตัวเองทั้งที่มีต้นทุนชีวิตสูงกว่า แต่เชาวลิต สาดสมัย กลับคิดได้ว่าต้อง มุ่งหน้าเรียนจบปริญญาตรีเพื่อมาทำงานช่วยเหลือสังคม ปัจจุบันครูเชาว์ เป็นนักพัฒนาสังคมอัตราจ้าง สังกัดกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่หลักในการดูแลเด็กๆในศูนย์ดูแลเด็กแล้ว ยังดูแลผู้ป่วยและคนแก่ที่ยากจนและถูกทิ้งให้อยู่โดยลำพัง ครอบคลุมถึง 6 ชุมชน เขามาไกลและก้าวข้ามข้อจำกัดที่มากกว่าติดลบ ด้วยการลงมือทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิดที่ตกผลึกจากการทำงานแบบคนที่มองขาดว่า คนที่จะให้ อย่าให้อย่างเดียวแต่ต้องคิดวางแผนและฝึกให้ผู้รับได้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ต้องฝึกให้คนรับ มีจิตสำนึก เด็กต้องเรียนรู้ว่าจะต้องตอบแทนการให้ ตอบแทนสังคม เช่นร้านค้าศูนย์บาท ตั้งขึ้นมาเพื่อสอนการให้ในแบบของครูเชาว์ ที่แฝงการฝึกจิตใจให้เด็กๆ ในชุมชนต้องเก็บขวดพลาสติคที่ไม่ใช้แล้วในบ้าน ในชุมชน มาแลกกับการได้ของใช้ภายในร้าน เป็นต้น เพื่อให้เด็กๆ และคนในชุมชนเรียนรู้ว่าเขาต้องทำงานเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ ไม่ใช่แบมือขออย่างเดียวโดยไม่ได้ช่วยเหลือตนเอง หรือ ช่วยเหลือผู้อื่นก่อน "ความฝันอันสูงสุด" ของครูเชาว์คือต้องการให้เด็กด้อยโอกาสที่ผ่านเข้ามาเป็นลูกศิษย์ในชีวิตของเขาได้มีโอกาสเรียนจบระดับปริญญาและแผนงานอันใกล้ที่เขาต้องการคือตั้งศูนย์อนามัยดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้คนในชุมชน วันนี้เขายังคงมุ่งมั่นก้าวเดินต่อไป " ผมยินดีต้อนรับ คนที่จะเข้ามาช่วยทำงานช่วยเหลือสังคมกับผม ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องมีของ ขอแค่มีใจที่พร้อมจะให้ แค่คุณเดินเข้ามา ก็ได้บุญแล้วครับ "

เกี่ยวกับองค์กร

The Givers Network เปิดตัวครั้งแรกที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 15 กันยายน 2561 ในงานประชุม The Givers Network 2018, Bangkok "Together we can give better ให้ด้วยกัน ยิ่งให้ได้ไกล" ภายใต้ปรัชญาการดำเนินงาน "ให้" 3 ข้อ คือ เห็นถ่องแท้ (ถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือ) เข้าใจจริง (เพื่อพัฒนาแนวทางการให้ที่เกิดผลยิ่งกว่า) -ให้อย่างเกิดผล (สู่ผลลัพธ์ทางสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่า) ผู้สนใจเข้าร่วมสมัครสมาชิกได้ที่ [email protected] และเข้าเยี่ยมชมเวปไซต์ www.giversnetwork.org

สองหนุ่มใหญ่ก้าวข้ามปมด้อยต้นทุนชีวิตติดลบ ทำงานจิตอาสาจนวันนี้ก้าวสู่เวทีประชุมนานาชาติขึ้นปลุกพลังใจให้คนลุกขึ้นสู้