ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับประเทศ พร้อมมุ่งสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเด็ก ๆ นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง อพวช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักทางวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย จึงมองว่าคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเข้าไปบริการประชาชนและเยาวชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ได้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ นอกห้องเรียนทัดเทียมกับในส่วนกลาง โดยเริ่มจากจุดประกายความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความรู้ และความสนุกสนาน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นอาจจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป
คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. จัดแสดงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 14 ปี ในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรมขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่เต็มหอประชุม และห้องจัดกิจกรรมโดยรอบพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นประจำจังหวัดในการใช้พื้นที่จัดแสดง โดยในครั้งนี้มีนิทรรศการและกิจกรรมที่จะนำไปจัดแสดงประกอบไปด้วย นิทรรศการ Fly to space นิทรรศการที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านอวกาศ ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับอวกาศ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนท้องฟ้า รวมถึงอากาศยาน นิทรรศการวิทยาศาสตร์แบบสื่อสัมผัส ชุด Wit in Case ที่สร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านกลศาสตร์ แม่เหล็กไฟฟ้า ปฏิกิริยาตอบสนองการมองเห็น คณิตศาสตร์ แสง สี เสียง และการแก้ปัญหากับชิ้นงานกว่า 60 ชิ้น นิทรรศการ Enjoy Science Careers : สนุกกับอาชีพวิทย์ ปี 2 กว่า 10 อาชีพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรม Maker Space พื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการ ปั้นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมรุ่นใหม่ โดยใช้ทักษะการประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหา กิจกรรมวิทยาศาสตร์สุดหรรษา (Science Games and Toys) เกมส์ และสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์กว่า 10 ฐาน อาทิ เครื่องร่อน เครื่องบินกระดาษพับ จรวดหลอด บอลลูนคอปเตอร์ กิจกรรมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องดาว กลุ่มดาว การดูทิศทาง ตำแหน่งของเราบนพื้นโลกเทียบกับดวงดาว การจินตนาการบนท้องฟ้า และเรื่องราวตำนานแห่งดาราศาสตร์ ผ่านเครื่องฉายภาพยนตร์ในระบบ 3 มิติแบบ Full dome ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ฝึกทักษะกระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์ รู้จักกับอุปกรณ์ พร้อมหาคำตอบผ่านการทดลอง เรื่องคนแกล้งดิน และสมดุลหรรษา การแสดงทางวิทยาศาสตร์ พบประสบการณ์อันตื่นเต้นเร้าใจ และได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในตอนสนุกกับการเคลื่อนที่ นอกจากนี้ อพวช. ยังมีกิจกรรมการอบรมสัมมนาอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรสำหรับบุคลากรทางการศึกษา การอบรมครู การพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแบบวิทย์นอกห้องเรียน และหลักสูตรสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย โครงการค้นหาความฝัน เพาะพันธุ์นักวิทย์ (Science Idol)
ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเริ่มออกเดินทางจัดกิจกรรมไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มที่ภาคอีสาน โรงเรียนเซกา จังหวัดบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 6 – 9 พฤศจิกายน 2561 / โรงเรียนสมเด็จพิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2561 / โรงเรียนพิมายวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน 2561 ภาคกลาง โรงเรียนชัยบาดาลวิทยา จังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน 2561 / โรงเรียนหนองฉางวิทยา จังหวัดอุทัยธานี ระหว่างวันที่ 11 -14 ธันวาคม 2561 / โรงเรียนนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 8 – 11 มกราคม 2562 / โรงเรียนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 15 -18 มกราคม 2562 ภาคเหนือ โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 18 – 21 ธันวาคม 2561 / โรงเรียนปัว จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 25 – 28 ธันวาคม 2561 ภาคตะวันออก โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 22 – 25 มกราคม 2562 ภาคใต้ โรงเรียนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2562 / โรงเรียนกำแพงวิทยา จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 12 – 15 กุมภาพันธ์ 2562
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 577 9999 ต่อ 2109 และ 2123 หรือติดตามได้ที่ www.nsm.or.th
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit