นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังจากที่ 5 หน่วยงาน ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานและธกส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดลงพื้นที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและมาตรการ จูงใจเพื่อเชิญชวนเกษตรกรทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตาม Zoning By Agri-Map จำนวน 33 จังหวัด ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เบื้องต้นมีเกษตรกรให้ความสนใจ พื้นที่รวมประมาณ 850,000 ไร่ และใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิตและประสานภาคเอกชนกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้าและเปิดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรถึงในพื้นที่
เบื้องต้น มีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการ 250 แห่ง ซึ่งโครงการนี้จะใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต ตั้งแต่การประสานหน่วยงานเข้ามาอบรมถ่ายทอดความรู้ การปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร การจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพและจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรมาบริการเกษตรกร การรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการในการจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยสนับสนุนสินเชื่อจากธกส.ให้เกษตรกรกู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและเตรียมแปลง ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ และสนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์และสถาบันเกษตรกรกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 พร้อมทั้งสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ น้ำท่วม หรือถูกแมลงศัตรูพืชทำลาย จะได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 1,500 บาท
การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแก่ตัวแทนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ มีผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรได้มาร่วมนำเสนอทิศทางการดำเนินโครงการ สานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มานำเสนอถึงขั้นตอนในการขอรับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรรายย่อยทั่วไปสามารถแจงความประสงค์ขอกู้เงินจากธกส.ได้โดยตรง และเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์สามารถแจ้งความประสงค์ขอกู้เงินธกส.ผ่านทางสหกรณ์ที่ตนเองสังกัดอยู่ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จังหวัดพิษณุโลก และตัวแทนสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการผลิตและการตลาด หลังจากที่ได้เริ่มโครงการไปก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลตอบแทนดีกว่าการปลูกข้าว ซึ่งภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกแล้วจะไถกลบตอซังปรับปรุงดินเตรียมปลูกข้าวโพดในฤดูต่อไป
"การดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก และในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญบริษัทเอกชน 13 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์มาหารือถึงเรื่องคุณภาพและราคาข้าวโพดที่จะรับซื้อจากเกษตรกร รวมถึงกำหนดจุดรับซื้อในพื้นที่ทั้ง 33 จังหวัด โดยจะมีการแบ่งจุดรับซื้อที่แน่นอนว่าบริษัทใดจะเข้าไปรับซื้อในพื้นที่ใด ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายในวันที่ 25 ตุลาคม นี้ และการเปิดจุดรับซื้อต้องเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรมีความสะดวกในการรวบรวมข้าวโพดมาขายได้ในทันทีที่มีการเก็บเกี่ยว และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เชิญตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ มาคุยถึงเงื่อนไขในการขายเมล็ดพันธ์ให้สหกรณ์เพื่อนำไปกระจายสู่เกษตรกร ทางบริษัทจะต้องส่งนักวิชาการเข้ามาช่วยดูแลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร ตั้งแต่แรกเริ่มไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ " อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
สำหรับการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดสด ต้องไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวโพดสดที่เกษตรกรรวบรวมขายให้เอกชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 6.30 บาท ส่วนข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5 % ราคาอยู่ที่ 9.70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคารับซื้อหน้าโรงงาน ทั้งนี้ การกำหนดราคาซื้อขายข้าวโพดจะต้องเป็นไปตามกลไกของตลาด แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประกาศของกระทรวงพาณิชย์ และการดำเนินโครงการครั้งนี้ กลไกสหกรณ์จะมีส่วนสำคัญทำให้การขับเคลื่อนโยบายนี้ประสบผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายในการสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรได้ โดยสหกรณ์การเกษตรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือกับภาคแอกชนตามแนวทางประชารัฐ ในการเจรจากับภาคเอกชนในการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าตามราคาประกาศของกระทรวงพาณิชย์และอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ.2560 และกำหนดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจได้ว่าการปลูกข้าวโพดหลังนาจะมีตลาดรองรับที่แน่นอนและขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและดูแลตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit