พิกุล(ราณี แคมเปน) หญิงสาวหน้าตาสะสวยผู้เติบโตมาในคณะมโหรีปี่พาทย์ของจางวางพ่วง(สรพงษ์ ชาตรี)ผู้เป็นพ่อ ถูกสอนให้เป่าปี่แก้วจนมีความสามารถเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งพระนครทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย จางวางพ่วงเป็นหัวหน้าคณะวงมโหรีปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียง ต่อมาเจ้าพระยาพิชัยเดชา (เกรียงไกร อุณหะนันทน์)ได้เมตตารับคณะมโหรีปี่พาทย์ของจางวางพ่วงเข้ามาอยู่ในวังพิชัยเดชา
พิกุลถูกสอนให้เป่าปี่แก้วมาตั้งแต่เด็ก โดยได้รับการสืบทอดปี่แก้วมาจากย่าของเธอที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะธรรมเนียมของตระกูลที่จางวางพ่วงยึดถือปฏิบัติกันมา โดยคนที่จะเป่าปี่แก้วได้นั้นจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น พิกุลมีเพื่อนสนิทคือเอื้อย(พริมา พันธุ์เจริญ)หญิงสาววัยเดียวกันที่เป็นลูกสาวของนางสุด(นฤมล พงษ์สุภาพ)แม่ครัวผู้อาศัยอยู่ในเรือนของจางวางพ่วง แต่เอื้อยเป็นคนที่มีนิสัยทโมน หัวช้ามักจดจำโน้ตดนตรีไม่ค่อยได้ เอื้อยก็เลยถูกสอนให้เล่นฉิ่งแทนที่จะไปเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นที่ยากกว่า
ต่อมาไม่นานหลวงราช(วรินทร ปัญหากาญจน์)ชายหนุ่มรูปงามลูกชายเพียงคนเดียวของเจ้าพระยาพิชัยเดชาได้เดินทางกลับจากการไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่ยุโรป หลวงราชเป็นหนุ่มเพลย์บอยหัวนอกที่มากด้วยเสน่ห์ หลังจากที่กลับมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้หางานทำเป็นชิ้นเป็นอัน อาศัยบารมีของพ่อผู้เป็นเจ้าพระยาก็เลยออกเที่ยวเตร่ ดื่มกิน สนุกสนานไปวัน ๆ ในขณะที่ท่านผู้หญิงเกสร(ดวงตา ตุงคะมณี)ผู้เป็นมารดาของหลวงราชก็ได้แต่คอยตามใจลูกชายจนเสียผู้เสียคน เมื่อหลวงราชบังเอิญมาพบกับพิกุลที่กำลังเป่าปี่แก้วอยู่ที่ศาลาริมสระน้ำท้ายวังพิชัยเดชาก็เกิดพึงใจในเสียงปี่แก้วของพิกุลพอ ๆ กับที่พึงใจในรูปโฉมของพิกุล ส่วนพิกุลเองก็แอบมีใจให้หลวงราชเช่นกัน หลวงราชพยายามหาเรื่องมาหาที่พิกุลที่ศาลาริมสระน้ำท้ายวังพิชัยเดชาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเรือนของจางวางพ่วงอยู่เสมอ
อยู่มาวันหนึ่งเสงี่ยมผู้มีหน้าที่เล่นฆ้องนางหงส์ประจำคณะเกิดล้มป่วยกะทันหันและเสียชีวิตลงในที่สุด จางวางพ่วงนึกถึงสิน(อเล็กซ์ เรนเดลล์)หลานชายที่เป็นญาติห่าง ๆ เมื่อครั้งที่อยู่สุพรรณบุรี จางวางพ่วงจึงแจ้งข่าวให้สินเดินทางมาที่วังของเจ้าพระยาพิชัยเดชา และสินก็ได้รับคัดเลือกให้ให้เป็นผู้เล่นฆ้องนางหงส์ประจำวงปี่พาทย์ของจางวางพ่วง สินดีใจมากที่เขาได้เจอกับพิกุลอีกครั้งเพราะสินแอบมีใจให้กับพิกุล มานานแล้ว แต่พิกุลต้องติดตามจางวางพ่วงผู้เป็นพ่อเข้าไปอยู่ในบ้านท่านเจ้าพระยาพิชัยเดชาเสียก่อน สินจึงไม่มีโอกาสได้บอกความในใจแก่พิกุล ขณะเดียวกันเอื้อยเองก็แอบชอบสิน ทว่าเอื้อยก็รู้ว่าสินแอบมีใจให้กับพิกุล เมื่อความรักเข้าตาเอื้อยก็เลยไม่เห็นพิกุลเป็นเพื่อนรักเหมือนที่เคยเป็นมา เอื้อยคอยกันท่าไม่ให้สินเข้าใกล้พิกุล อีกทั้งยังแสดงออกชัดเจนว่าเธอมีใจให้กับสิน แม้สินจะปฏิเสธเอื้อยไปหลายต่อหลายครั้งว่าเขาไม่เคยมีใจให้กับเอื้อยเลยแม้แต่น้อย แต่เอื้อยก็ยังคงตามติดสินอยู่ไม่ห่าง
หลวงราชแอบพบกับพิกุลจนทำให้จางวางพ่วงรู้จนได้ จางวางพ่วงโกธรมากที่รู้ว่าพิกุลไม่เจียมตัว ไปแอบชอบพอกับหลวงราชผู้เป็นลูกของเจ้านาย และด้วยความที่หลวงปู่ที่จางวางพ่วงเคารพ เคยทำนายเอาไว้ว่า หากมีลูกสาว จงให้ระวังลูกสาวจะมีเคราะห์หนักที่เกิดจากชายสูงศักดิ์นำพามาให้ซึ่งเป็นผลมาจากกรรมในอดีตชาติ ทำให้จางวางพ่วงเป็นห่วงอนาคตของพิกุล ฝ่ายท่านผู้หญิงเกสรเมื่อรู้ว่าหลวงราชมีใจให้กับพิกุลก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ท่านผู้หญิงเกสรก็เลยพยายามจะหาทางไล่ครอบครัวของจางวางพ่วงออกไปจากวัง ทว่าไม่สำเร็จเพราะเจ้าพระยาพิชัยคอยให้ท้ายครอบครัวของจางวางพ่วงอยู่ตลอดเวลา ท่านผู้หญิงเกสรก็เลยต้องให้สร้อย(วิมลพรรณ ชาลีจังหาญ) บ่าวรับใช้คนสนิทไปคอยกลั่นแกล้งพิกุลเพื่อความสะใจ
แม้ว่าพิกุลจะรักหลวงราชมากเพียงใด แต่พิกุลก็ยังเป็นหญิงสาวที่ถูกสอนมาให้รักนวลสงวนตัว ไม่ยอมให้หลวงราชแตะต้องตัวเธอ หลวงราชทั้งรักทั้งหลงพิกุลมากและอยากให้พิกุลตกเป็นของเขา เขาก็เลยยอมทำทุกอย่างเพื่อให้พิกุลเชื่อใจและยอมรับในตัวเขา หลวงราชยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยเป็นคนเจ้าชู้สำมะเลเทเมาไม่เอาไหนก็กลายมาเป็นคนเอาการเอางาน เลิกกินเหล้าและเลิกเจ้าชู้ ท่านผู้หญิงเกสรดีใจมากที่หลวงราชกลับตัวได้ แต่ท่านผู้หญิงเกสรก็ยังไม่เห็นด้วยกับการที่หลวงราชไปรักกับผู้หญิงต่ำต้อยอย่างพิกุลอยู่ดี ขณะเดียวกันสินยังคงเป็นห่วงพิกุลและไม่เชื่อใจหลวงราชว่าหลวงราชจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้และรักพิกุลจริง ๆ สินพยายามเตือนพิกุลว่าให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหลวงราชแต่พิกุลไม่เชื่อ สินก็เลยคอยกันท่าไม่ให้หลวงราชเข้าใกล้กับพิกุล หลวงราชไม่พอใจสินก็เลยให้มุด(ชัชวาล เพชรวิศิษฐ์) ซึ่งเป็นบ่าวรับใช้ผู้ซื่อสัตย์คอยขัดขวางสินไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องของเขากับพิกุล
ท่านผู้หญิงเกสรกลัวว่าหลวงราชจะพลาดท่าเสียทีถูกหญิงสาวต่ำต้อยอย่างพิกุลจับเป็นสามี ก็เลยทำทีรับคุณหญิงดาว(การัญชิดา คุ้มสุวรรณ)และคุณหญิงเดือน(นาตาชา จุลานนท์) ลูกสาวฝาแฝดของเจ้าพระยายุทธนามนตรี(ศานติ สันติเวชกุล)กับ มรว. พิศพิราศ(สุรัตนา คล่องตระกูล) ที่เป็นญาติกับเจ้าพระยาพิชัยเดชาให้มาเรียนการฟ้อนรำที่ในวังของตน เพื่อเปิดโอกาสให้หญิงสาวทั้งสองได้มาทำความรู้จักกับหลวงราช คุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนต่างพึงใจในตัวหลวงราชตั้งแต่แรกเห็น ขณะเดียวกันสองสาวพี่น้องคู่นี้ยังคอยแย่งกันทำตัวเด่นเพื่อเรียกร้องความสนใจจากหลวงราชก็เลยแย่งกันเอาใจทั้งยังคอยตามติดชิดใกล้หลวงราชจนทำให้หลวงราชรำคาญ ยิ่งทำให้หลวงราชหาเรื่องหนีออกจากตึกใหญ่ของวังไปที่เรือนซ้อมดนตรีของจางวางพ่วง เพื่อที่จะได้เจอกับพิกุล แต่กลับทำให้พิกุลเสียสมาธิในการซ้อมเพราะมัวแต่ชะเง้อมองหลวงราชจางวางพ่วงโกรธมากเลยลงโทษพิกุล หลวงราชก็เลยต้องเข้ามาช่วย พิกุลซาบซึ้งในน้ำใจของหลวงราชที่เขาแสดงความเป็นสุภาพบุรุษช่วยเหลือเธอเอาไว้ พิกุลก็เลยยิ่งมีใจให้หลวงราชมากขึ้นอีก
หลวงราชเข้าทำงานมีตำแหน่งในกระทรวง ได้รับความไว้วางใจจากท่านเจ้าคุณต่วน(วิวัฒน์ ผสมทรัพย์) และได้รู้จักกับสารภี(สุภัสสรา ธนชาต) ลูกสาวของจีนพ้ง(ทนงศักดิ์ ศุภการ) คหบดีผู้ร่ำรวยและมีอิทธิพล สารภีชอบหลวงราชมาก คอยมาทำธุระที่กระทรวงเพื่อเจอกับหลวงราช ขณะที่เจ้าพระยาพิชัยเดชาก็เห็นว่าสารภีเหมาะสมกับหลวงราช แต่ท่านผู้หญิงเกสร ไม่ชอบสารภีเลย เห็นว่าเป็นลูกเจ๊กลูกจีน ไม่คู่ควรกับหลวงราช และนิสัยก็หยิ่งผยอง ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร สารภีมีน้องสาวต่างมารดาอยู่หนึ่งคนคือพุดกรอง(กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ) เด็กสาววัย 10 ขวบ ที่จีนพ้งฝากเข้าไปรับใช้งานท่านผู้หญิงเกสรในวังพิชัยเดชา แม่ของพุดกรองเป็นหญิงชาวไทยคือนิ่ม(พรรษชล สุปรีย์) ภรรยาคนที่สองของจีนพ้ง สารภีไม่ค่อยชอบนิ่มสักเท่าใดนักเพราะกลัวว่านิ่มจะมาฮุบเอาสมบัติของพ่อ ทำให้สารภีพลอยไม่ชอบและรังเกียจพุดกรองที่เป็นลูกเมียรองของพ่อทว่าพุดกรองก็ยังรักสารภีเสมือนพี่สาวแท้ ๆ ของตนในระหว่างที่รับใช้งานท่านผู้หญิงเกสร อยู่ในวังพิชัยเดชา พุดกรองได้มีความสนิทสนิทกับพิกุลมากเป็นพิเศษ เพราะคนอื่น ๆ ในวังมองว่าเธอเป็นลูกเจ๊กไม่มีสกุลรุนชาติ
สารภีได้พบกับคุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนโดยบังเอิญ เมื่อคุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนรู้ว่าสารภีคือคนที่เจ้าพระยาพิชัยเดชาหมายหมั้นจะให้มาเป็นคู่ครองกับหลวงราชแทนที่จะเป็นเธอทั้งสอง คุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนก็เลยเกิดอาการหมั่นไส้สารภี สารภีซึ่งเป็นคนไม่ยอมคนก็เลยตอบโต้กลับ คุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนแค้นสารภีที่บังอาจมาสู้กับลูกเจ้าพระยาอย่างพวกเธอ คุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนก็เลยวางแผนให้คนไปลอบขืนใจสารภี แต่สารภีฉลาดกว่า เธอคิดแผนตลบหลังโดยให้ชบา(คัคกิ่งรักส์ คิคคิคสะระณัง) สาวใช้คนสนิทเอาเงินไปล่อพวกคนร้ายให้บอกความจริงว่าใครเป็นคนจ้างวานพวกมันมา และใช้เงินที่มากกว่าหลายเท่าจ้างคนร้ายพวกนั้นให้กลับไปทำร้ายคุณหญิงดาวและคุณหญิงเดือนจนตายเพื่อเป็นการเอาคืน แต่แม้จะไม่มีหญิงดาว หญิงเดือน ทางท่านผู้หญิงเกสร ก็ยังไม่ชอบทั้งพิกุล และ สารภี สุดท้ายท่านผู้หญิงเกสรหาเรื่องด่าทอ ตบตีพิกุลอีกจนจางวางพ่วงทนไม่ไหว กราบลาเจ้าพระยาพิชัยเดชา ยกวงกลับสุพรรณบุรีบ้านเกิด สร้างความเสียใจให้หลวงราชและพิกุล ส่วนด้านสารภีดีใจ พยายามเข้าทางเจ้าพระยาพิชัยเดชา ที่อยากเธอเป็นลูกสะใภ้ แต่หลวงราชก็ไม่ได้มีใจให้สารภีแต่อย่างใด
จางวางพ่วงตัดสินใจให้สินแต่งงานกับพิกุล ทำให้พิกุลและเอื้อยเสียใจมาก แต่พิกุลก็ไม่สามารถขัดพ่อได้ แต่สินเห็นแก่ความรักที่พิกุลมีต่อหลวงราช จึงยอมเป็นผู้เสียสละ พาพิกุลไปเจอกับหลวงราชที่กระท่อมเก่าๆของครูทับ(พรเลิศพิพัฒน์รุ่งเรือง)และท่านจัน(สโรชา วาทิตตพันธ์) ครูเป่าปี่ที่รักกัน อยู่ด้วยกันจนเสียชีวิตไปแล้ว พิกุลเห็นถึงความรักของหลวงราชที่มีต่อเธอ ยอมสละความสุขสบายส่วนตัวมาอยู่อย่างลำบากในกระท่อมหลังเล็กๆ ทั้งยอมขัดใจท่านผู้หญิงเกสรผู้เป็นแม่ พิกุลก็เลยยอมตกเป็นของหลวงราชในที่สุด ทั้งคู่ใช้ชีวิตชาวบ้านอย่างมีความสุข ขณะที่สารภีและชบาให้คนมาสืบหาตามหลวงราช ผ่านมาที่กระท่อมของครูทับ ก็ไม่เจอ เพราะวิญญาณของท่านจันช่วยอำพรางเอาไว้ สุดท้ายหลวงราช ตัดสินใจพาพิกุล ไปขอขมาจางวางพ่วง ให้สัญญาว่าจะรีบกลับพระนคร ให้พ่อมาสู่ขอและจัดพิธีแต่งงานกับพิกุลให้ถูกต้อง จางวางพ่วง แม้จะโกรธมาก แต่สุดท้ายเห็นแก่ความรักของทั้งคู่ ทำให้หลวงราชและพิกุลดีใจมากหลวงราชกลับไปที่บ้าน เจ้าพระยาพิชัยเดชาไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่ก็เกิดเหตุท่านผู้หญิงเกสร และสร้อย โดนโจรบุกปล้นบ้านและฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งก็เป็นฝีมือของสารภี หลังจัดพิธีศพ ทางจีนพ้งและสารภี ยังวางแผนร้ายบีบบังคับให้หลวงราชต้องแต่งงานกับสารภี เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง หลวงราชจำยอม โดยตั้งใจว่าหลังแต่งงานจะรีบไปอธิบายให้พิกุลเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด แต่สารภีกลับใช้ให้ปิง(ว่าที่ร้อยตรีภัทรกฤษณ์ พุ่มพิพัฒน์) ลูกน้องของจีนพ้งไปฆ่าล้างครัวครอบครัวของพิกุล ทำให้จางวางพ่วงและแม่เพียร สุด อ่ำ ต้องตายอย่างทารุณ เหลือเพียงพิกุล สิน และ เอื้อย
พิกุลเสียใจมากที่ตัวเธอเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อแม่ต้องตาย เดินทางเข้าพระนคร เพื่อไปหาหลวงราช หาความจริงเรื่องที่หลวงราชผิดสัญญา และกำลังจะแต่งงานกับสารภี แล้วพิกุลก็ต้องเศร้าใจอย่างมาก เพราะเห็นหลวงราชเข้าพิธีแต่งงานกับสารภีจริงๆ พิกุลเสียใจมาก เดินไปที่ท่าน้ำที่เธอกับหลวงราชนัดเจอกันเป็นประจำ พิกุลเป่าปี่ไปเรื่อยๆ คิดถึงเรื่องราว คำสัญญาของหลวงราช พิกุลเป่าปี่จนสิ้นใจตาย ไม่ได้เจอกับหลวงราชเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่หลวงราชโดนเล่ห์มายาของสารภี กว่าจะได้มาเจอกับพิกุล ก็เหลือเพียงร่างที่ไร้วิญญาณ หลวงราชร้องไห้ฟูมฟาย เสียใจมาก สารภียังมาเยาะเย้ยถากถาง ดีใจที่เห็นพิกุลตาย หลวงราชสุดจะทน ต่อว่าสารภีจนเธอโกรธลุแก่โทสะ เอาลิ่มแทงหลวงราชจนบาดเจ็บ หลวงราชพร้อมจะตาย ท้าให้สารภีแทงให้ตรงหัวใจ พร้อมจับมือสารภีให้แทง หลวงราชยืนยันว่าไม่มีทางจะรักสารภี เพราะเขารักเพียงพิกุลคนเดียวเท่านั้น สารภีจะได้แค่เพียงร่างกาย แต่ไม่ได้ใจของเขาไปครอง
เรื่องราวความรักของหลวงราช พิกุล และสารภี ได้สิ้นสุดลงในชาตินี้ แต่ความรัก ความแค้นของพิกุลที่มีต่อหลวงราช กำลังจะเริ่มต้นขึ้น จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามชมในชาติภพใหม่ เข้มข้น ชวนติดตามทุกฉากทุกตอน..
คำอธิบายว่าด้วย "ปี่แก้วนางหงส์"
วงดนตรีไทยแบ่งเป็นจำพวกใหญ่ๆ จะมีอยู่ 3 จำพวกคือ 1.วงปี่พาทย์ 2.วงเครื่องสาย 3.วงมโหรี ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นชื่อเรียกวงปี่พาทย์ประโคมงานศพตามประเพณีส่งวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์ด้วยนกศักดิ์สิทธิ์ คือ หงส์ เพราะหงส์เป็นสัตว์มีปีก บินขึ้นฟ้าได้ แล้วเรียกเป็นนางตามประเพณียกย่องเพศหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม
นางหงส์ เป็นชื่อเครื่องประโคม มีปี่กับกลองมลายูหลายใบ เรียกกันว่านางหงส์ ไม่ใช่ชื่อเพลงที่ประโคม (สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2483 ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ต่อมาเรียกปี่พาทย์ที่ใช้ประโคมงานศพว่า ปี่พาทย์นางหงส์ นานเข้าก็เหมาเรียกจังหวะหน้าทับกลองที่ตีกำกับทำนองเพลงประโคมตอนเผาศพว่านางหงส์ด้วย
คำว่า นางหงส์ หมายถึง (นาง) นก (ตัวเมีย) ตามประเพณีดึกดำบรรพ์ที่ "ปลงด้วยนก" หมายถึงให้นกพาขวัญและวิญญาณขึ้นฟ้า (สวรรค์) มีหลักฐานเก่าสุดเป็นลายเส้นรูปนกบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว ครั้นเปลี่ยนคติทำพิธีเผาศพตามอินเดียก็ยังรักษาร่องรอยดั้งเดิม คือให้นางนกพาขวัญและวิญญาณสู่ฟ้า กลายเป็น "เจ้าแห่งฟ้า" จึงเรียกนางนกอย่างยกย่องว่า "นางหงส์"
เหตุที่ใช้ชื่อวงปี่พาทย์นี้ว่าวงปี่พาทย์นางหงส์ก็เนื่องจากเรียกตามชื่อเพลงที่เล่นคือเพลงเรื่องนางหงส์ โดยจะใช้เล่นเฉพาะงานอวมงคลเท่านั้น เพลงนางหงส์ อันที่จริงแล้วก็คือชื่อเพลงไทยเดิมเพลงหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเพลงนางหงส์ซึ่งเป็นเพลงในอัตราจังหวะสองชั้น ที่ใช้บรรเลงประโคมศพ จะมีหลายเพลงรวมกัน ประกอบด้วยเช่น พราหมณ์เก็บหัวแหวน สาวสอดแหวน แมลงวันทอง กระบอกทอง โดยต่อมาในปัจจุบันวงปี่พาทย์นางหงส์มักจะใช้กลองทัดตีแทนกลองมลายูในเวลาประโคมศพ ซึ่งในหมู่นักดนตรีไทยมักจะพูดเลียนเสียงว่า "ครึ่มครึ่ม" ส่วนกลองมลายูนั้นในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็น อาจเป็นเพราะสาเหตุการใช้หวายทำสายเร่งเสียง ซึ่งหาช่างทำกลองไม่ได้ ฉะนั้นกลองที่ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์ที่เราเห็นในตอนนี้ จะเป็นกลองแขกที่ใช้ไม้งอๆ ตีนั่นเอง
ปี่พาทย์นางหงส์ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์ที่มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และฉิ่ง ฉาบ ส่วนปี่ที่ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์นั้น จะใช้ปี่ชวาและกลองมลายู วงปี่พาทย์นางหงส์ เดิมเป็นวงที่ใช้บรรเลงในงานศพของสามัญชน ต่อมาได้นำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ เมื่อครั้งงานพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ ของกรมศิลปากรมาประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง จึงนับเป็นครั้งแรกที่ได้นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาใช้ในงานพระบรมศพด้วย
ส่วนบทประพันธ์เรื่อง "ปี่แก้วนางหงส์" นั้น นางเอกเป่าปี่จนตาย เพราะความรักและกลายเป็นวิญญาณ ซึ่งสันนิษฐานว่าคุณเสน่ห์ โกมารชุน นำเพลงนางหงส์ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงงานศพ เอามาผนวกกับที่นางเอกเป่าปี่แก้ว (ซึ่งจริงๆแล้วปี่ที่นางเอกเป่าในละครเวอร์ชั่นที่แล้วคือปี่ใน) จึงตั้งชื่อเรื่องว่าปี่แก้วนางหงส์ ส่วนคำว่า ปี่แก้ว นั้น มีปรากฏในชื่อเพลงไทยเดิม คือ "เขมรปี่แก้ว" และในบทละครเรื่องนางมโนราห์ ที่ว่า "ลูกเอยเคยฟังแต่ปี่แก้วพร้อมแล้วทั้งปี่ไฉน"
นอกจากนี้ คำว่าปี่แก้ว ยังปรากฏในเรื่องพระอภัยมณีที่ว่า...
"แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียง สอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน
พวกโยคีผีสางทั้งนางมาร ให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ"
ในการตีความ ปี่แก้ว จึงไม่ใช่แค่เครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญะของโลกียวัตถุ คือเป็นเครื่องดนตรีที่อาศัยเสียงเป็นสื่อเล้าโลมใจคนฟังให้เคลิบเคลิ้ม ซึ่งเสียงดนตรี ก็เป็นหนึ่งในรสสัมผัสทางกามตัณหานั่นเอง ซึ่งโครงเรื่องที่เพิ่มเติมเข้าไปนั้น ใช้ปี่ในการสร้างปัญหาให้แก่ตัวละครเอกที่ยังเป็นปุถุชนที่ยังหนีไม่พ้นเรื่องรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ย่อมหนีไม่พ้นความหลงใหลเรื่องโลกียสุขไปได้ ด้วยเหตุนี้หลวงราชจึงมีเมียหลายคน ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดเพื่อชดใช้กรรม ก่อนที่จะละความสุขในระดับโลกียะไปสู่การแสวงหาความสุขในระดับโลกุตระในตอนจบของเรื่อง.
.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit