ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ในการแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 8 แห่งและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้ชุดโครงการวิจัยที่มีผลกระทบสูง เรื่อง "การพัฒนางานวิจัยและสนับสนุนชุดโครงการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ว่า รัฐบาลมีนโยบาย OTOP ที่มีผลต่อชุมชน และสำคัญต่ออัตลักษณ์ และภูมิสังคมของพื้นที่นั้น และเติบโตก้าวหน้ามาตลอด ดังนั้นหากจะเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและสินค้ากลุ่มนี้ จากประสบการณ์ของ สกว. และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล คิดว่างานวิจัยและพัฒนา รวมทั้ง การออกแบบดีไซน์ ตลอด Value Chain น่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้ากลุ่มนี้ได้
"สิ่งที่ สกว. และ มทร. ทั้ง 8 แห่งจะทำร่วมกันตลอด 16 เดือนก็คือการสร้างแพลตฟอร์มหรือคอนเซ็ปท์ของการจัดการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain)สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการสูง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้กับการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งคาดว่างานวิจัยในรูปแบบนี้จะสามารถทำให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ เพราะหากพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับฐานราก แล้วนำมารวมกับเศรษฐกิจกระแสหลัก จะดูเหมือนไม่มาก แต่เศรษฐกิจฐานรากตัวนี้จะทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรต่อหัวก็จะสูงขึ้น และเป็นการกระจายตัว ที่จะมีผลดีมากต่อเศรษฐกิจฐานราก"
ขณะที่ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว. กล่าวว่า ขณะนี้มีการดำเนินงานวิจัยล่วงหน้ามาแล้ว 2 เดือน โดยนักวิจัยได้ลงพื้นที่ ศึกษาสินค้า OTOP ในภาพรวมของจังหวัดตนเอง พร้อมกับเลือกผลิตภัณฑ์ที่มี Value Creation สูง ที่สำคัญต้องเกิดจากทรัพยากรพื้นถิ่น ที่มีความโดดเด่นของพื้นที่นั้น หรือเกิดจากภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมของพื้นถิ่นนั้นๆ อันหมายถึงความมีอัตลักษณ์และเลียนแบบไม่ได้ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ และสุดท้ายคือสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีผลกระทบต่อผู้ประกบการสูง และมีห่วงโซ่คุณค่าที่ยาวพอคือมีผลกระทบต่อคนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยออกมา โดยหลังจากทำวิจัยแล้ว ยังกำหนดให้มีการนำไปใช้จริง เพื่อดูว่าห่วงโซ่คุณค่าใหม่นี้สร้างผลกระทบทั้งบวกและลบอย่างไร ผลิตภัณฑ์เป็นเป็นที่ยอมรับไหม และผู้ผลิตได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่าไหร่
โดยส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ที่ มทร. ทั้ง 8 แห่ง เลือกมาเป็นประเด็นวิจัยจะประกอบด้วย 1) ผลิตภัณฑ์ข้าว จ.นครราชสีมา ของ มทร.อีสาน 2) ผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอ จังหวัดเชียงใหม่ ของ มทร.ล้านนา 3) ปลาน้ำจืด จังหวัดสุพรรณบุรี ของ มทร. กรุงเทพ 4) อาหารพื้นถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ มทร.สุวรรณภูมิ 5)ผลิตภัณฑ์จากไผ่ จ.ปราจีนบุรี ของ มทร.ธัญบุรี 6) สปา จ.นครปฐม และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของ มทร.รัตนโกสินทร์ 7) ขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จ.เพชรบุรี ของ มทร.พระนคร และ 8) เครื่องแกงและเครื่องถม จ.นครศรีธรรมราช ของ มทร.ศรีวิชัย
ด้าน ผศ.ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในคณะกรรมการติดตามชุดโครงการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า"ความน่าสนใจของโครงการนี้คือ เป็นการวิจัยที่เป้าหมายเพื่อสร้างต้นแบบของการขับเคลื่อน ภูมิปัญญา ทรัพยากรท้องถิ่น หรือวัฒนธรรม ไปสู่กระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP โดยช่วงต้น มทร. แต่ละแห่งจะต้องคลี่ภาพห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์นั้นให้ได้ ต้องเห็นส่วนแบ่งของการตลาดที่ชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนแบ่งการตลาดคือใคร แต่ละคนมีส่วนแบ่งเท่าไหร่ จากนั้นก็มาดูถึงกระบวนการวิจัยที่จะใส่มูลค่าเพิ่มที่ช่วยแก้ปัญหาหรือเติมช่องว่างของความรู้ในจุดที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง และขายได้อย่างยั่งยืน"
ขณะที่ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานในฐานะประธาน ทปอ.มทร. ยืนยันว่า เครือข่ายมทร.จะสามารถขับเคลื่อนภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ไปได้อย่างแน่นอน เพราะ มทร.มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันกับกรมพัฒนาชุมชนมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งเครือข่ายมทร.ยังมีความพร้อมด้านคนและเครื่องมือมายาวนาน เชื่อว่าการที่ สกว.มาช่วยเติมเต็ม และวางกรอบบนฐานเดิมที่เรามีอยู่แล้วผมคิดว่า ราชมงคลมีความพร้อมที่สุดในบริบทดังกล่าว ประกอบกับ ราชมงคลมีโจทย์ในการทำงานเพื่อชุมชนสังคมอยู่แล้วจึงไม่อาจปฏิเสธภารกิจนี้ได้อย่างแน่นอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit