ซึ่งเทรนด์การเลี้ยงลูกของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจะโฟกัสไปที่การเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวมากกว่าในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่พยายามหาวิธีส่งเสริมจินตนาการของลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อจะได้รู้ถึงความสนใจและความถนัดของลูกรักได้เร็ว และสามารถสนับสนุนลูกให้ทำอย่างที่ฝันได้อย่างเต็มที่
ด้านกุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก แพทย์หญิง มัณฑนา ชลานันต์ จากโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้บอกเล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับปลดล็อคพลังความคิดสร้างสรรค์ของลูกรักให้โดดเด่นว่า มีหัวใจสำคัญอยู่ตรงที่ไม่ปิดกั้นจินตนาการ เพราะเด็กทุกคนมีความสามารถในการคิดในแบบของเขา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้ผ่านการเล่น โดยการเล่นที่หลากหลายจะช่วยเสริมศักยภาพด้านจินตนาการของเด็กให้แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้การเล่นของเล่นสำหรับเด็กนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 5 แบบ ได้แก่
1.การใช้ร่างกายในการเล่น (Active play) การปล่อยให้เด็กได้ปีนป่าย ห้อยโหน หรือเล่นกีฬา จะสามารถช่วยพัฒนาด้านสติปัญญาและพัฒนากล้ามเนื้อไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังช่วยส่งเสริมในเรื่องของจินตนาการ ด้วย สังเกตได้จากวิธีการเล่นเครื่องเล่นของเด็กแต่ละคน โดยเด็กบางคนเลือกที่จะขึ้นบันได เพื่อที่จะลื่นกระดานลงมา แต่เด็กบางคนก็พยายามที่จะปีนทางกระดานลื่นขึ้นไป เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่าตัวเองสามารถ ปีนต้านแรงโน้มถ่วงและใช้แรงเสียดทานพิชิตพื้นผิวที่ราบลื่นขึ้นไปด้านบนได้ นับเป็นการเรียนรู้การเล่น ในรูปแบบที่แตกต่าง และแสดงให้เห็นว่าความคิดของเด็กนั้นไม่ได้คิดจะเล่นแค่ในกรอบเสมอไป
2. การเล่นโดยบริหารจัดการด้วยตัวเอง (Manipulative play) เช่น การปั้นดิน การก่อกองทราย การต่อจิ๊กซอว์ เพื่อสร้างผลงานให้เป็นภาพเหมือนกับจินตนาการ ซึ่งเป็นการเล่นที่นอกจากจะส่งเสริม การใช้กล้ามเนื้อมือแล้ว ยังส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานแตกต่างไปตามจินตนาการของ แต่ละคน โดยหากเด็กยังไม่สามารถปั้นหรือต่อชิ้นส่วนได้สมบูรณ์ตามที่จินตนาการออกมา ผู้ใหญ่สามารถช่วยชี้แนะและช่วยแต่งแต้มผลงานของเด็กให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการถามความคิดของเด็กก่อนว่า สิ่งที่ต้องการปั้นหรือต่อชิ้นส่วนขึ้นมานั้นคืออะไร เมื่อเด็กบอกถึงสิ่งที่ต้องการจะสร้างสรรค์แล้ว พบว่ายังมีบางชิ้นส่วนสำคัญขาดหายไป ผู้ใหญ่สามารถค่อยๆช่วยต่อเติมส่วนที่หายเข้าไปให้เด็กเห็นทีละชิ้น จนผลงานที่เด็กต้องการปั้นหรือต่อชิ้นส่วนนั้นครบถ้วนสมบูรณ์
3. การเล่นบทบาทสมมุติ (Make believe play) การเล่นบทบาทสมมุติ เช่น การเล่นขายของ การเล่นสมมุติเป็นหมอหรือเป็นตำรวจ การนำหุ่นมือ ตุ๊กตากระดาษ หรือตุ๊กตาจริงๆ มาเล่นตามจินตนาการ และร้อยเรียงความคิดจนเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา จะส่งเสริมให้เด็กพัฒนาด้านภาษาและเข้าใจบริบท ในสังคมมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่สิ้นสุด
4. การใช้ดนตรี และศิลปะร่วมในการเล่น (Creative play) การเล่นดนตรีและการวาดภาพ นอกจากจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถช่วยกระตุ้นให้เด็กพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างจินตนาการอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนดนตรีที่เริ่มต้นจากตัวโน๊ตทีละตัว จนประกอบกันเป็นทำนองและแต่งเป็นเพลงได้นั้นนักดนตรีต้องมีจินตนาการก่อนจึงสามารถเรียบเรียงเป็นเพลงได้ อีกทั้งการฟังดนตรียังชวนให้เด็กๆ คิดจินตนาการเป็นเรื่องราวตามทำนองที่แตกต่างกันได้ด้วย ส่วนการเล่นในกิจกรรมด้านศิลปะมักเริ่มต้น จากการขีดเส้น วาดรูปวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ต่อมาจึงวาดประกอบกันเป็นรูปที่มีความหมาย หรือระบายสีเพื่อเพิ่มความงดงาม ตลอดจนสร้างเรื่องราวผ่านรูปวาด ซึ่งนับเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กสนุกและสร้างจินตนาการที่หลากหลายยิ่งขึ้น
5. การเล่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (Learning play) การอ่านหนังสือนิทานหรือการอ่านนิยายสั้นๆ ไม่เพียงช่วยส่งเสริมจินตนาการของเด็กผ่านบทบาทของตัวละครแต่ละตัวเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในเรื่องภาษาและการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในสังคมให้กับเด็กได้ด้วย นอกจากนี้การเล่นเกมกระดานต่างๆ ยังช่วยพัฒนาความคิด อีกทั้งยังส่งเสริมความรู้ที่แตกต่างกันในแต่ละเกมอีกด้วย
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมดีๆ เพิ่มเติมจากศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ได้ที่ โทร.02-787-1000 หรือ www.paradisepark.co.th และ Facebook.com/paradiseparkfanpage/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit