นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการ เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ TFFIF พร้อมนำหน่วยลงทุนเข้าทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยใช้ชื่อย่อ 'TFFIF' ในการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ต้องการเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีโอกาสได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงที่เปิดจองซื้อหน่วยลงทุนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ TFFIF จะเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิ(2) ที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันโอนสิทธิตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ (Revenue Transfer Agreement หรือ RTA) นอกจากนี้ ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าว มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ อาทิ ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทางพิเศษในการเดินทาง ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายโครงข่ายทางพิเศษและทางเชื่อมต่อในอนาคต ตลอดจนนโยบายการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการเติบโตของที่อยู่อาศัยในพื้นที่แถบชานเมืองและพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ที่จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน
ตัวแทนบริษัทจัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในกรณีที่กองทุนมีกำไรสะสมเพียงพอ และโดยรวมแล้วในแต่ละรอบปีบัญชีจะจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว โดยนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนเป็นระยะเวลาประมาณ 8 ปี รวมถึงมีโอกาสที่ TFFIF จะเติบโตจากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐในอนาคตนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะตัวแทนภาครัฐ เปิดเผยว่า การจัดตั้ง TFFIF ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการระดมทุนให้แก่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินหรือเงินกู้ยืมที่มีรัฐบาลค้ำประกัน
ทั้งนี้ หลังจาก TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรกในส่วนแบ่งรายได้ของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีแล้ว ในอนาคตกองทุนยังมีโอกาสเข้าลงทุนเพิ่มเติมในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง) และหมายเลข 9 (สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ซึ่งเป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกรมทางหลวงที่มีการจัดเก็บรายได้จากค่าผ่านทาง เข้าระดมทุนเพิ่มเติมผ่าน TFFIF ในอนาคต
ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่กองทุน TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรก กล่าวว่า กทพ.ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีตามปกติ โดยจะจัดให้มีตู้เก็บค่าผ่านทางแบบเงินสดและตู้เก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทางพิเศษได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มความสะดวกในการใช้บริการและลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง
ส่วนเงินที่ได้รับจากการโอนสิทธิในรายได้ของทางพิเศษดังกล่าว กทพ. คาดว่าจะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 สายทาง ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทนตอน N1 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กทพ. ที่มุ่งมั่นพัฒนาทางพิเศษ เพื่อให้บริการที่ดี มีความคุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนในครั้งนี้ของ TFFIF มีจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้ายเท่ากับ 4,470 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนทั้งหมดเท่ากับ 44,700 ล้านบาท (ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก เท่ากับร้อยละ 4.75(1)) นับเป็นการเสนอขายที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2561
หมายเหตุ
(1)ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก คำนวณจากผลรวมจำนวนเงินทุนเริ่มแรกและจำนวนเงินที่ได้รับจากการเสนอขายส่วนเพิ่มทุนจำนวน45,700 ล้านบาท โดยมีสมมติฐานในการจ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 100 ของกำไรสุทธิที่มีการปรับปรุงแล้ว รวมทั้งสมมติฐานในการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายในการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี ตามนโยบายบัญชี และสมมติฐานหลักที่ผู้ประเมินราคาอิสระใช้ในการจัดทำประมาณการ ซึ่งเป็นเพียงการแสดงประมาณการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 และไม่อาจรับรองผลได้ ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผล การปันส่วนแบ่ง หรือการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เกิดขึ้นจริงอาจแตกต่างจากประมาณการดังกล่าว
(2)รายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิเท่ากับค่าผ่านทางที่จัดเก็บได้จากเส้นทางในปัจจุบันของทางพิเศษที่กองทุนเข้าลงทุนในรายได้ครั้งแรกหักด้วยจำนวนเงินตามวิธีการที่กำหนดในสัญญา RTA ซึ่งอ้างอิงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเงินอื่นที่คำนวณตามอัตราดังต่อไปนี้ (ก) ร้อยละ 10 ในกรณีที่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บังคับจริงกับอัตราค่าผ่านทางน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 หรือ (ข) อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บังคับจริง ในกรณีที่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บังคับจริงกับอัตราค่าผ่านทางเกินกว่าร้อยละ 10 โดยอัตราค่าผ่านทางที่นำมาใช้คำนวณจำนวนเงินตามกรณี (ก) หรือ (ข) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
คำเตือน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit